วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

Music of the Heart หนังที่นักปฏิรูปการศึกษาควรดู

บางครั้งเวลาที่เราดูหนังเราจะเกิดความรู้สึกว่าไม่อยากให้หนังเรื่องนั้นจบ อยากจะให้หนังเล่าเหตุการณ์ต่อไปเรื่อยๆ เพราะเราเกิดความประทับใจบางอย่างในหนังเรื่องนั้น แม้ว่าหนังจะไม่ใช่หนังที่ได้รับรางวัลอะไรเลย แต่เราก็รู้สึกผูกพันกับหนังเรื่องนั้นอย่างบอกไม่ถูก โดยรู้แต่เพียงอย่างเดียวว่าไม่อยากให้จบ

Music of the Heart เป็นหนังอีกเรื่องหนึ่งที่ผมดูแล้วรู้สึกประทับใจบางอย่างและไม่อยากให้หนังจบ หนังเรื่องนี้กำกับโดยราชาหนังสยองขวัญ เวส คราเวน (ผู้ซึ่งกำกับหนังที่เรารู้จักกันดีอย่าง Nightmare on Elm Street และ Scream) นำแสดงโดยเมอริล สตรีพ, ไอดัน ควินน์, แองเจล่า บาสเสท, และกลอเรีย เอสตาฟาน ฯ แม้ว่าหนังจะไม่ได้รับรางวัลอะไรก็ตาม ทั้งที่ได้รับเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ในสาขา นักแสดงหญิงยอดเยี่ยม และสาขาเพลงประกอบยอดเยี่ยม รวมทั้งได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงลูกโลกทองคำในสาขานักแสดงหญิงยอดเยี่ยมก็ตาม แต่หนังก็มีคุณค่าควรแก่การชมและให้แง่คิดที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการปฏิรูปการศึกษา

Music of the Heart สร้างจากเรื่องจริงของผู้หญิงคนหนึ่งที่ชื่อว่า โรเบอร์ต้า กัสปารี ซาวาราส (Roberta Guaspari Tsavaras) ที่ผูกพันอยู่กับสามีนายทหารเรือจนไม่มีโอกาสที่จะเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ชีวิตของเธอและลูก 2 คน นิคกับเล็กซี่ (แสดงโดย ไมเคิล แองการาโน และเฮนรี่ ดินโฮเฟอร์ ในวัยเด็ก และ ชาร์ลี ฮอฟไฮเมอร์ และ เคียรัน คัลกิ้น ในตอนวัยรุ่น) ต้องขึ้นอยู่กับสามีแต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่ว่าสามีจะย้ายไปประจำการที่ไหนเธอก็จำต้องย้ายตามไปด้วย โรเบอร์ต้าไม่มีโอกาสได้ทำงานอย่างอย่างเต็มที่ ขีวิตสมรสและความเป็นครอบครัวของเธอต้องแลกด้วยอาชีพที่เธอรัก นั้นคือการสอนไวโอลิน

จนกระทั่งเมื่อเธอถูกสามีทิ้งไปมีผู้หญิงคนอื่น ชีวิตสมรสและความเป็นครอบครัวของเธอพังทลายลง เธอจึงเหมือนหมดความหมาย เธอและลูกต้องออกมาใช้ชีวิตกันโดยลำพัง เธอพยายามทุกอย่างที่จะทำให้สามีของเธอกลับมา แต่ไม่เป็นผล สุดท้ายคือต้องแยกทางกัน แม้ว่าเธอจะประสบปัญหา แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีส่วนดี คือเธอได้พ้นออกมาจากชีวิตที่ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง พ้นจากพันธนาการของสามี และได้มีโอกาสที่จะได้ทำในสิ่งที่ตนรัก ชีวิตจริงๆ ของเธอจึงเริ่มต้นขึ้นเมื่อได้เข้าไปสอนในโรงเรียนของรัฐแห่งหนึ่งในย่านอีสต์ฮาร์เล็ม นิวยอร์ค โรงเรียนดังกล่าวตั้งอยู่ในย่านที่มีผู้คนต่างเชื้อชาติมาอาศัยอยู่รวมกัน ทั้งคนผิวดำ พวกฮีสปานิก(Hispanic หรือพวกที่มีเชื้อสายสเปนในแถบอเมริกาใต้)และคนเอเซีย เด็กๆ ในชั้นเรียนไวโอลินของเธอจึงหลากหลายเชื้อชาติหลากหลายวัฒนธรรม

เด็กในชั้นเรียนไวโอลินของโรเบอร์ต้าส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ด้อยโอกาส ความจริงแล้วไม่มีใครเชื่อว่าเธอจะสามารถสอนเด็กเหล่านี้ได้ ทางโรงเรียนเองก็ไม่ค่อยจะแน่ใจเท่าไรนักว่าเด็กจะให้ความสนใจและเป็นประโยชน์แก่เด็กอย่างแท้จริง ทางครอบครัวของเด็กเองก็ไม่ใคร่จะมั่นใจ บางครอบครัวก็ไม่ให้การสนับสนุน ยิ่งตัวเด็กเองด้วยแล้วพวกเขามองครูโรเบอร์ต้าด้วยความรู้สึกที่ไม่ยอมรับสักเท่าไรนัก การเรียนการสอนไวโอลินก็เหมือนกับการเรียนดนตรีประเภทอื่น ที่ต้องอาศัยการฝึกซ้อมอยู่เป็นประจำจึงจะสามารถเล่นได้ดี จากความตั้งใจของเธอในที่สุดเด็กนักเรียนในชั้นของเธอก็สามารถเล่นไวโอลินได้ดีขึ้นเป็นลำดับ สามารถเล่นบทเพลงที่มีความซับซ้อนได้ดียิ่งขึ้น

ในแต่ละปีเด็กต้องการเข้ามาเรียนไวโอลินกับครูโรเบอร์ต้ามากขึ้นจนรับได้ไม่หมด ต้องมีการคัดเลือก เป็นอยู่อย่างนี้กว่าสิบปี จนในที่สุดทางคณะกรรมการของโรงเรียนก็ตัดสินใจยกเลิกชั้นเรียนไวโอลินของเธอ เนื่องจากปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายของโรงเรียน เธอไม่ยอมแพ้ เธอพร้อมด้วยการสนับสนุนของเพื่อนๆ ตลอดจนผู้ปกครองของเด็กๆ นักเรียน และคนในชุมชนร่วมกันต่อสู้เพื่อไม่ให้ชั้นเรียนไวโอลินนี้ถูกยุบ

เธอพยายามติดต่อผู้คนที่เกี่ยวข้องให้ได้รับทราบปัญหาดังกล่าว เธอติดต่อนักดนตรีคลาสสิกให้มาเยี่ยมเยียมชั้นเรียนของเธอ และชมเด็กๆ นักเรียนของเธอแสดง จนในที่สุดได้มีการก่อตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการสอนไวโอลินของเธอขึ้นเรียกว่า “The Opus 118 Music Center” โดยจัดให้มีการแสดงคอนเสิร์ตไวโอลินเก็บเงินจากผู้ที่เข้ามาชมที่คาร์เนกี้ฮอลล์ ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตของเธอ เธอและนักเรียนของเธอได้รับการชื่นชมเป็นอย่างมากจากการแสดงในคราวนั้น ชั้นเรียนไวโอลินของเธอจึงยังอยู่และยังคงเปิดสอนต่อไป

อย่างที่ผมบอกหนังเรื่องนี้ให้แง่คิดในเรื่องของการปฏิรูปการศึกษาได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถสะท้อนให้เห็นถึงหัวใจของการปฏิรูปการศึกษาที่ชัดเจนว่าไม่ได้อยู่ที่ระบบ ระเบียบ หรือการจัดการใดๆ ทั้งสิ้น แต่อยู่ที่ตัวบุคคลโดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่เป็นครูนี่เอง
ผมนั่งดูหนังเรื่องนี้แล้วทำให้นึกย้อนไปเมื่อสักสี่สิบกว่าปีที่แล้ว ที่ผมยังเรียนหนังสืออยู่ในโรงเรียนเทศบาลเล็กๆ แห่งหนึ่งย่านฝั่งธนบุรี ผมว่าครูในโรงเรียนที่ผมเรียนสมัยยังเด็กนั้นไม่ต่างกับครูโรเบอร์ต้าสักเท่าไรนัก คือเป็นครูที่มุ่งมั่นในวิชาที่ตนสอน มีความรักในการสอน มีความรู้สึกผูกพันอยู่กับเด็ก คอยเอาใจใส่ไม่เฉพาะแต่การเรียนในชั้น นอกชั้นเรียนครูก็คอยดูแลไต่ถามทุกข์สุขอยู่เสมอ ผมจำได้ดีว่าเวลาที่ผมหรือเด็กในชั้นไม่สบาย มาโรงเรียนไม่ได้ ครูก็จะมาเยี่ยมมาไต่ถามอาการถึงที่บ้าน (เนื่องจากบ้านกับโรงเรียนอยู่ไม่ห่างกันเท่าไรนัก) ผมว่านอกจากอาชีพที่เป็นครูผู้สอนแล้ว ครูเหล่านี้ยังทำหน้าที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองอีกทางหนึ่งด้วย แม้ว่าสมัยก่อนจะไม่ได้ใช้ปรัชญาการเรียนการสอนแบบที่ยึดเอานักเรียนเป็นศูนย์กลาง (student center หรือ child center) อย่างสมัยนี้ หรือสอนไปก็ต้องเหลือบดูตัวบ่งชี้คุณภาพไป แต่เด็กนักเรียนสมัยนั้นก็ได้รับประโยชน์จากการเรียนการสอนแบบเดิมไม่ได้น้อยไปกว่าปัจจุบันสักเท่าไร

ครูโรเบอร์ต้าก็เช่นเดียวกัน เธอมีชีวิตอยู่สองด้านที่สำคัญ ด้านหนึ่งเธอคือครูของเด็กนักเรียนในชั้นเรียนไวโอลินที่โรงเรียน อีกด้านหนึ่งเธอคือแม่ของลูกสองคนที่ถูกสามีทิ้งไปมีผู้หญิงคนอื่น นอกจากการเรียนการสอนที่โรงเรียนแล้ว เธอยังต้องสอนลูกของเธอ อบรมดูแลลูกของเธอที่บ้านด้วย ส่วนตัวของเธอเองก็มีปัญหาอยู่ไม่น้อย แต่สิ่งเหล่านั้นไม่ได้ทำให้ความมุ่งมั่นในการสอนไวโอลินของเธอลดน้อยลงไป ความเป็นครูในตัวของเธอและปรัชญาการสอนไวโอลินของเธอต่างหากที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า โรเบอร์ต้าก็เหมือนกับครูโรงเรียนเทศบาลในอดีตของผม คือเธอจะมุ่งมั่นในการสอน รักและผูกพันอยู่กับเด็ก เอาใจใส่เด็กเหมือนกับเป็นลูก มีวิญญาณของความเป็นครูที่พร้อมจะให้ความรู้แก่เด็กอย่างเต็มความสามารถ ฉากที่เธอไปเยี่ยมเด็กนักเรียนชายคนหนึ่งถึงบ้าน ที่รู้สึกว่าตัวเองมีส่วนต่อการตายของเพื่อนร่วมชั้น เป็นฉากที่ชี้ให้เห็นถึงความรู้สึกผูกพันและเอาใจใส่ในความรู้สึกของนักเรียนของเธอได้เป็นอย่างดี ในกรณีนี้ผมไม่ได้หมายความว่าครูที่ดีจะต้องไปเยี่ยมบ้านนักเรียนที่เป็นปัญหาทุกคน แต่ผมหมายความว่าครูที่ดีคือครูที่ต้องรู้จักและเข้าใจธรรมชาติของเด็กนักเรียนของตน เอาใจใส่เด็กนักเรียนของตนอยู่เสมอต่างหาก โรเบอร์ต้าจะไม่มีวันรู้เลยว่าเด็กนักเรียนคนนั้นรู้สึกคับข้องใจว่าตนนั้นมีส่วนในการตายของเพื่อน ถ้าเธอไม่ได้เป็นคนที่หมั่นสังเกตพฤติกรรมของเด็กในชั้นของเธอ

ที่สำคัญวิธีการสอนไวโอลินของเธอเป็นสิ่งที่สะท้อนปรัชญาของการศึกษาที่แท้จริงอย่างน้อยสี่ประการกล่าวคือ ประการที่หนึ่ง เนื่องจากเด็กแต่ละคนต่างกัน การจัดการศึกษาให้กับแต่ละคนจึงต่างกัน สิ่งที่ต่างกันไม่ใช่เนื้อหาสาระในวิชาที่เรียน แต่เป็นวิธีการที่ใช้ต่างหาก มีอยู่หลายฉากที่ชี้ให้เห็นถึงปรัชญาดังกล่าว เช่น การที่ต้องรับมือกับเด็กที่ไม่สนใจในบทเรียนไม่เห็นความสำคัญของบทเรียน เด็กที่คอยแกล้งเด็กคนอื่นในชั้น แต่ที่สำคัญคือฉากที่เธอบอกกับเด็กผู้หญิงคนหนึ่งว่า แม้ว่าท่วงท่าการยืนและตำแหน่งของเท้าในระหว่างที่เล่นไวโอลินมีส่วนสำคัญต่อการเล่นสักเพียงใด แต่หากเราไม่สามารถยืนได้ถนัด (เนื่องจากเด็กคนนั้นมีปัญหาทางสรีระ) ก็สามารถที่จะนั่งและเล่นไวโอลินได้ดีได้เช่นกัน หรือการที่เด็กแต่ละคนมีรูปร่างต่างกัน ไวโอลินที่ใช้จึงต่างขนาดกันไปด้วย ก็เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงปรัชญาการศึกษาในข้อนี้เป็นอย่างดีว่าเราไม่จำเป็นต้องแบ่งแยกเด็ก หรือเลือกเนื้อหาสาระให้กับเด็กแตกต่างกัน เด็กเหล่านี้แม้จะมีความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา สีผิว บางคนอาจเป็นเด็กเกเร บางคนอาจเป็นเด็กที่มีปัญหา แต่เด็กเหล่านี้ก็เรียนร่วมอยู่ในชั้นเดียวกัน ไม่มีการแบ่งว่าเป็นเด็กเรียนเก่งหรือเด็กเรียนอ่อน เนื้อหาสาระที่เรียนก็เรียนเรื่องเดียวกัน แม้ว่าจะต่างวิธีการไปบ้างสำหรับบางคน ผลที่เกิดขึ้นก็คือเด็กในชั้นสามารถที่จะเรียนไวโอลินได้เหมือนกัน

ประการที่สอง โรเบอร์ต้าแสดงให้เราเห็นว่า การเรียนที่แท้จริงนั้นไม่ได้จำกัดอยู่ที่โรงเรียนเท่านั้น บ้านก็เป็นห้องเรียนได้ และค่อนข้างจะเป็นห้องเรียนที่สำคัญด้วยซ้ำ เพราะเป็นที่ที่เด็กจะได้มีโอกาสฝึกฝน สั่งสมประสบการณ์ และเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง โดยการสนับสนุนจากพ่อแม่และคนในครอบครัว สิ่งเหล่านี้จะสร้างขึ้นได้ต้องอาศัยความทุ่มเทของครูและโรงเรียนที่จะทำให้เด็กเห็นความสำคัญของการฝึกฝน และทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเห็นถึงความตั้งใจจริงของครูและโรงเรียน ไม่ใช่จะอาศัยแต่เพียงการออกกฎหมายมาปฏิรูปอย่างโน้นอย่างนี้แล้วจะเกิดผล

ประการที่สาม การเรียนการสอนที่แท้จริงไม่ได้เป็นทั้งแบบที่ครูเป็นศูนย์กลาง (teacher center) หรือแบบที่เด็กนักเรียนเป็นศูนย์กลาง (student/child center) อย่างที่สังคมไทยเรากำลังเรียกร้องและพยายามปฏิรูปกันนักหนา แต่จะต้องเป็นแบบที่ความรู้คือศูนย์กลาง (knowledge center) คือหมายถึงว่าครูและนักเรียนต่างเรียนรู้ร่วมกัน เรียนรู้ไปพร้อมกัน กรณีของไวโอลินเด็กนักเรียนจะได้รับความรู้และเทคนิคพื้นฐานในการเล่นจากครู ได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์จากครู ทั้งยังซึมซับเอาความรู้เหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต ปัญหามีอยู่ว่าแล้วครูล่ะเรียนรู้อะไร สิ่งที่ครูเรียนรู้ก็คือความเป็นตัวตนที่แท้ของนักเรียน เรียนรู้วิธีการที่จะทำให้เด็กเหล่านั้นสามารถค้นหาตัวเองให้พบ เรียนรู้พัฒนาการของวิชาที่ตนกำลังสอน รวมทั้งเรียนรู้การแสวงหาสัมฤทธิผลในการสอนร่วมกันกับเด็กนักเรียน การที่ครูโรเบอร์ต้าเล่นไวโอลินร่วมกับเด็กในชั้นเรียนต่อหน้าบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครอง และครูคนอื่นที่โรงเรียน รวมทั้งการที่เธอเล่นไวโอลินร่วมกับเด็กๆ ในการแสดงคอนเสิร์ตที่คาร์เนกี้ฮอลล์ เป็นสิ่งที่แสดงถึงปรัชญาในข้อนี้ได้เป็นอย่างดี

ประการที่สี่ หนังสะท้อนให้เห็นถึงการจัดการศึกษาที่ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างชัดเจน จากกรณีที่โครงการสอนไวโอลินของครูโรเบอร์ต้าจะถูกยกเลิก อันเนื่องมาจากปัญหาทางด้านงบประมาณ ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่เห็นความสำคัญของการเรียนการสอนวิชาดนตรี ที่เห็นความทุ่มเทของครูโรเบอร์ต้า ที่เห็นผลสัมฤทธิที่เกิดขึ้นกับตัวเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในชุมชนอีสต์ฮาร์เล็ม ต่างร่วมแรงร่วมใจให้การช่วยเหลือสนับสนุนเพื่อให้โครงการสอนไวโอลินของเธอยังอยู่ต่อไป ประเด็นสำคัญก็คือ ความร่วมมือและความช่วยเหลือเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากการกำหนดนโยบายของรัฐ ไม่ได้เกิดจากการออกพระราชบัญญัติปฏิรูปการศึกษาใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่ว่าจะกำหนดนโยบายการศึกษาอย่างไร จะออกกฎหมายปฏิรูปการศึกษาอย่างไร ก็ไม่มีทางที่จะทำให้ความร่วมมืออย่างนี้เกิดขึ้นได้ แต่ที่เกิดขึ้นได้นั้นมาจากสิ่งที่พวกเขาได้เห็นจากครูที่สอนลูกๆ ของเขา และจากพัฒนาการของเด็กๆ ที่เป็นลูกของพวกเขาต่างหาก

ผมคิดว่าคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในวงการปฏิรูปการศึกษาในบ้านเรา รวมทั้งบรรดานักวิชาการด้านการศึกษาและพ่อแม่ผู้ปกครองทั้งหลาย ควรที่จะดูหนังเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะผมไม่แน่ใจว่าการปฏิรูปการศึกษาที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยของเรานั้น จะสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด และสามารถพัฒนาการเรียนการสอนในบ้านเราไปได้สักแค่ไหน ดูเหมือนยิ่งมีการปฏิรูปมากเท่าไร การศึกษาบ้านเราก็ยิ่งมีช่องว่างระหว่างคนที่มีโอกาส กับคนที่ด้อยโอกาสมากเท่านั้น ยิ่งปฏิรูปการศึกษามากเท่าไร เราก็ยิ่งแบ่งแยกเด็กมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งปฏิรูปการศึกษามากเท่าไร เด็กก็ยิ่งต้องเรียนกวดวิชามากยิ่งขึ้นเท่านั้น ยิ่งปฏิรูปการศึกษามากเท่าไร ครูก็ยิ่งห่างเหินจากเด็กมากเท่านั้น และยิ่งปฏิรูปการศึกษามากเท่าไร ชีวิตคนเราก็ยิ่งแข่งขันมากขึ้นเท่านั้น

ผมดูหนังเรื่อง Music of the Heart แล้วไม่อยากให้หนังเรื่องนี้จบด้วยเหตุผลสองประการ ประการแรกผมอยากเห็นความสำเร็จของเด็กๆ รุ่นแล้วรุ่นเล่าที่ครูโรเบอร์ต้าเป็นผู้สอน อยากดูพวกเขาแสดงคอนเสิร์ตอย่างที่คาร์เนกี้ฮอลล์อย่างไม่รู้จบ เพราะรู้สึกมีความสุขที่ได้เห็นและได้ฟัง ประการที่สองผมอยากให้คนอื่นได้เห็นหนังเรื่องนี้เหมือนอย่างที่ผมเห็น อยากให้คนที่ไม่ได้ดู ได้ดู เพื่อที่ว่าทุกคนจะได้เข้าใจว่าคุณภาพทางการศึกษาไม่ใช่อะไรทั้งสิ้น นอกจากความผูกพันแน่นแฟ้นที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างครูกับนักเรียนนั่นเอง

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ27/6/54

    สะเทือนหัวใจคนเรียนครูดีค่ะ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ11/3/55

    ติดตามเรื่องนี้มาหลายปี หลังจากได้ชมทางcable TV ชอบมาก อยากมีไว้ใช้ประกอบการสัมมนานักการศึกษา

    ตอบลบ