วันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

อำนาจทุนนิยมใน The Insider

ใครจะไปคิดว่าบุหรี่ที่คนสูบกันทุกวันนี้ นอกจากจะส่งผลร้ายในทางสุขภาพของผู้คนในสังคมแล้ว ยังเป็นภัยคุกคามมนุษย์ในเชิงอุดมการณ์ของมนุษยชาติอีกด้วย The Insider คือหนังที่บอกเรื่องราวเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี ในความเห็นของผม หนังเรื่องนี้สะท้อนให้เราเห็นถึงพลังอำนาจของระบบทุนนิยมโลกได้เป็นอย่างดี The Insider สร้างจากเรื่องจริงของนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำที่เชี่ยวชาญในทางเคมีคนหนึ่งชื่อ ดร. เจฟฟรีย์ ไวเกนด์ ซึ่งทำงานให้กับบริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาที่ชื่อว่า บราวน์แอนด์วิลเลียมสัน ซึ่งเป็นผู้ผลิตบุหรี่ที่เราคนไทยรู้จักกันดีในแบรนด์เนมว่า คูล (Kool) กับลัคกี้ สไตรก์ (Lucky Strike) ฯ ไวเกนด์นั้นถูกไล่ออกจากบริษัท เนื่องจากผู้บริหารอ้างว่ามีปัญหาในการสื่อสาร (poor communication) ว่ากันง่ายๆ ก็คือ เริ่มที่จะไม่อยู่ในการควบคุมของบริษัท เนื่องจากไวเกนด์ไม่อาจจะยอมรับกับนโยบาย และพฤติกรรมในการดำเนินธุรกิจของบริษัทได้อีกต่อไป

ในสหรัฐอเมริกาจะมีกฎหมายควบคุมปริมาณนิโคตินซึ่งเป็นสารเสพติดที่อยู่ในบุหรี่ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อผู้บริโภคมากเกินไป แต่บราวน์แอนด์วิลเลียมสันก็พยายามเลี่ยงโดยการใช้วิธีการทางเคมีโดยการเติมแอมโมเนีย อันเป็นผลทำให้ร่างกายมนุษย์สามารถดูดซับนิโคตินได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลก็คือเราจะตกเป็นทาสบุหรี่มากขึ้น รวมทั้งยังมีการใช้สารคูมารีนในการผลิต ซึ่งสารตัวนี้มีผลที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งในร่างกายได้ นี่คือสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์อย่าง ดร.ไวเกนด์ ยอมไม่ได้เพราะเป็นพฤติกรรมที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคและสังคม เป็นพฤติกรรมที่มุ่งเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัว ไม่คำนึงถึงผลกระทบร้ายแรงที่จะเกิดกับประชาชนผู้บริโภค

ผมว่าเราทุกคนทราบดีว่าบุหรี่นั้นเป็นสินค้าที่แทบจะหาประโยชน์จากการบริโภคไม่ได้เลยสักนิดเดียว บุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของการตายอันเนื่องมาจากมะเร็งในปอด รวมทั้งโรคถุงลมโป่งพอง พิษของนิโคตินที่อยู่ในบุหรี่ก็คือเพชรฆาตเราดีดีนี่เอง ในปัจจุบันคนที่สูบบุหรี่เป็นคนที่สังคมค่อนข้างจะรังเกียจ เพราะควันบุหรี่แม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นคนสูบเอง แต่หากได้สูดเข้าร่างกายเนื่องจากอยู่ใกล้กับคนที่สูบ ก็ได้รับผลร้ายไม่ต่างอะไรกับคนที่สูบเอง

ดร.ไวเกนด์ ถูกไล่ออกจากบริษัทพร้อมด้วยพันธนาการอันหนึ่งติดตัวมาก็คือ สัญญาไม่เปิดเผยข้อมูลหรือความลับของบริษัท นั่นหมายความว่า ทั้งๆ ที่ไวเกนด์รู้ดีว่าบริษัทกำลังทำร้ายประชาชน เขาก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรได้แม้แต่จะเล่าให้ใครฟัง จนกระทั่งเมื่อได้พบกับ โลเวล เบิร์กแมน โปรดิวเซอร์รายการ 60 นาที ของเครือข่ายซีบีเอส ทุกอย่างก็เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อเบิร์กแมนรู้ข้อเท็จจริงจึงพยายามที่จะให้ ไมค์ วอลเลซ ได้สัมภาษณ์ไวเกนด์เพื่อออกอากาศในรายการ 60 นาที ซึ่งแม้ว่าเบิร์กแมนจะทำสำเร็จ แต่การนำออกอากาศไม่ใช่เรื่องง่าย

บราวน์แอนด์วิลเลียมสัน ซึ่งรู้ว่าได้มีการสัมภาษณ์ไวเกนด์และเตรียมจะนำออกอากาศ จึงได้พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้รายการสัมภาษณ์ ที่เป็นการเปิดเผยความลับของบริษัทนั้นได้ออกอากาศ ซึ่งในที่สุดก็ทำไม่สำเร็จ รายการ 60 นาทีที่เป็นการสัมภาษณ์ครั้งสำคัญคราวนั้นก็ได้ออกอากาศ

อย่างที่ผมบอกตอนแรกว่า หนังเรื่องนี้สะท้อนพลังอำนาจและอิทธิพลของระบบทุนนิยมได้เป็นอย่างดี ประเด็นสำคัญๆ ที่น่าสนใจที่เกี่ยวกับกลไกของระบบทุนนิยมมีอยู่มากมายในหนังเรื่องนี้ (ผมเคยเสนอให้เพื่อนผมที่อยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งสอนนักศึกษาปริญญาโทเรื่องระบบเศรษฐกิจการเมืองในประเทศกำลังพัฒนา ได้ดูหนังเรื่องนี้และน่าจะเอาหนังเรื่องนี้ไปใช้ประกอบการสอนในชั้นเรียนได้)

ประการแรก กลุ่มทุนอุตสาหกรรมบุหรี่อย่างบราวน์แอนด์วิลเลียมสัน(ในสหรัฐอเมริกาบริษัทนี้มีส่วนแบ่งในตลาดการบริโภคบุหรี่เป็นอันดับ 3 รองจากฟิลลิปมอริส และ อาร์ เจ เรย์โนลด์ โทแบคโค)ก็เหมือนกับกลุ่มทุนนิยมในระบบโลกโดยทั่วไป คือมุ่งแสวงหากำไรสูงสุดและการสะสมทุนเพื่อขยายอำนาจและอิทธิพลในการครอบงำ ทุนที่กลุ่มเหล่านี้มีอยู่นั้นมากพอที่จะดลบันดาล พอที่จะซื้ออะไรก็ได้ในโลกนี้

ตัว ดร.ไวเกนด์เองก็คือคนหนึ่งที่อยู่ในกรณีนี้ ผมมองว่า ดร.ไวเกนด์ก็คือตัวแทนของคนเก่งคนมีความรู้ความสามารถ สำเร็จการศึกษาระดับสูง มีความเชี่ยวชาญในวิชาการวิชาชีพของตนเอง คนเหล่านี้คือคนที่กลุ่มทุนอุตสาหกรรมต้องการตัวเป็นอย่างมาก การเสนอผลตอบแทนจำนวนมาก ตลอดจนสิทธิประโยชน์ต่างๆ เป็นสิ่งจูงใจให้คนเหล่านี้เข้าไปทำงานกับบริษัทเหล่านั้น เพราะฉะนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับสังคมเราทุกวันนี้ จึงไม่แปลกอะไรที่คนหนุ่มคนสาวที่มีความรู้ความสามารถ จึงแข่งขันกันที่จะเข้าไปทำงานกับกลุ่มทุนนิยมยักษ์ใหญ่เหล่านี้ เพราะสิ่งที่พวกเขาจะได้รับตอบแทนนั้น จะทำให้มีแต่ความสุขสบายไปจนตลอดชีวิต

นอกจากตัว ดร.ไวเกนด์ในฐานะที่เป็นทรัพยากรบุคคลที่ทรงคุณค่าแล้ว กลุ่มทุนอุตสาหกรรมเหล่านี้ ยังใช้ทุนของตนเองในการซื้อเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซื้อนักการเมือง ซื้อระบบราชการ ซื้อนักธุรกิจในท้องถิ่น หรือแม้แต่สื่อมวลชน เพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับตนเองให้มากที่สุด จึงไม่แปลกที่การตัดสินใจดำเนินการในเรื่องต่างๆ ของรัฐ มักเป็นการตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของธุรกิจ มากกว่าจะคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน เป็นเสมือนวงจรอุบาทว์ที่กัดกร่อนชีวิตของผู้คนและสังคมให้เสื่อมลงไปทุกวัน

นอกจากนั้นกลุ่มทุนอุตสาหกรรมเหล่านี้ยังใช้ทุนที่ตนสะสมไว้ในการสร้างภาพของความเป็นผู้ที่สนับสนุนในกิจการสาธารณะกุศล เป็นต้นว่า การให้การสนับสนุนกิจกรรมของหน่วยงานบริการทางสังคม ให้การสนับสนุนในเรื่องทุนการศึกษาหรือวัสดุอุปกรณ์ทางการศึกษา ให้การสนับสนุนในการจัดแข่งขันกีฬาสำคัญๆ ฯ ทั้งในระดับท้องถิ่น ในระดับภูมิภาค และในระดับโลกอีกด้วย

ประการที่สอง อย่างไรก็ตามแม้ว่ากลุ่มทุนนิยมจะเน้นการให้ผลประโยชน์ตอบแทนกับบุคคลและองค์กรต่างๆ แต่หากเมื่อใดก็ตามที่มีความพยายามจะทำให้กลุ่มทุนนิยมเหล่านี้เสียประโยชน์ หรือถูกเปิดโปงในการเอารัดเอาเปรียบต่อผู้บริโภคและสังคม หรือถูกชี้ให้เห็นถึงความพยายามในการสร้างฐานอำนาจในการครอบงำชีวิตผู้คนและสังคมในประเทศต่างๆ แล้ว เมื่อนั้นภาพของความเป็นผู้ที่ให้ประโยชน์ ทำแต่สาธารณะกุศลจะเปลี่ยนไปทันที เป็นผู้ที่พร้อมจะทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่จะสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมของตน ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นชีวิตคน หรือทรัพย์สิน ฯ

ใน The Insider กลุ่มทุนนิยมบราวน์แอนด์วิลเลียมสันใช้วิธีการทุกอย่างที่กล่าวมาข้างต้น ในการปกป้องธุรกิจของตนเอง ประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งก็คือ คำถามที่ว่าบราวน์แอนด์วิลเลียมสันปกป้องตัวเองจากอะไรหรือจากใครกันแน่ ในตอนแรกหนังชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่บริษัทตอบแทนให้กับไวเกนด์ เพื่อป้องกันไม่ให้ไวเกนด์เผยข้อมูลสำคัญทางการผลิตอันเป็นความลับของบริษัทให้กับคนอื่นได้รับรู้ มองโดยทั่วๆ ไปเหมือนกับเป็นการป้องกันจากไวเกนด์ แต่เมื่อหนังดำเนินต่อไป ก็ปรากฏว่าข้อมูลเหล่านั้นได้มีการเคลื่อนย้ายถ่ายเทออกไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งไปยังสื่อมวลชน ไปยังเบิร์กแมน โปรดิวเซอร์รายการ 60 นาทีของเครือข่ายซีบีเอส ซึ่งยิ่งทำให้กลุ่มทุนบราวน์แอนด์วิลเลียมสันรู้สึกถูกคุกคามมากขึ้น ถึงตรงนี้เราจึงพบว่าสิ่งที่บราวน์แอนด์วิลเลียมสันกลัวนักกลัวหนาก็คือ ความจริงที่พวกเขาพยายามจะปกปิดไว้ต่างหาก ไม่ใช่กลัว ดร.ไวเกนด์ หรือ เบิร์กแมน หรือรายการ 60 นาที หรือเครือข่ายซีบีเอสแต่อย่างใด

เพราะอย่างไวเกนด์เองก็คงไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรที่จะปิดปากไม่ให้เขาได้มีโอกาสพูด หรือเอาข้อมูลเหล่านั้นไปบอกคนอื่น เมื่อให้ผลประโยชน์ตอบแทนเต็มที่แล้วไม่เป็นผล กลุ่มทุนอย่างบราวน์แอนด์วิลเลียมสันก็สามารถใช้วิธีการคุกคามชีวิต ครอบครัว และทรัพย์สินได้ หรืออย่างกรณีของรายการ 60 นาทีของเครือข่ายซีบีเอส ก็ยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่ายังตกอยู่ภายใต้การครอบงำของบราวน์แอนด์วิลเลียมสันเช่นเดียวกัน การเข้าแทรกแซงในการทำรายการโดยผ่านทางกลไกบริหารของบริษัทนั้นยังพอทำเนา แต่หากไม่ดำเนินการตามความต้องการของบราวน์แอนด์วิลเลียมสัน ก็ถึงขั้นที่ซีบีเอสจะต้องถูกเทคโอเวอร์กิจการทั้งหมด เป็นสิ่งที่ยืนยันความเห็นข้างต้นที่ว่า กลุ่มทุนนิยมโลกเหล่านี้สามารถดลบันดาลอะไรก็ได้

ประการที่สาม ผมว่าเราในฐานะผู้บริโภคดูหนังเรื่องนี้แล้ว ต้องกลับมามองตัวเราเองและบอกกับตัวเองให้ได้ว่า แท้ที่จริงเรามีฐานะอะไร มีความหมายเพียงไรกันแน่ในระบบทุนนิยมที่ครอบงำโลกใบนี้อยู่ คำกล่าวที่ว่าลูกค้าหรือผู้บริโภคคือคนสำคัญนั้น เป็นจริงแค่ไหน หรือไม่มีความอะไรเลย เพราะสิ่งที่เราได้เห็นใน The Insider ก็คือความไม่รับผิดชอบต่อผู้บริโภคและสังคม ความเห็นแก่ประโยชน์ของบริษัท โดยไม่คำนึงถึงผลร้ายที่จะเกิดกับผู้บริโภคสินค้าของตนแต่อย่างใด เป็นความเลวบริสุทธิ์ที่กลุ่มทุนอุตสาหกรรมพวกนี้กระทำต่อผู้บริโภคของตนเองมาโดยตลอด

The Insider ชี้ให้เห็นว่าเราผู้บริโภคมีฐานะเป็นเพียงทาสหรือบริวารในระบบทุนนิยมโลกเท่านั้น เป็นทาสหรือบริวารที่ต้องพึ่งพาผู้อื่นตลอด ไม่มีอำนาจต่อรองอะไร ไม่สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวของตัวเอง กลุ่มทุนนิยมเหล่านี้ครอบงำชีวิตของเรา ครอบงำวิธีคิดของเราไปหมดแล้วแทบทั้งชีวิต ลองคิดดูสิครับ ยกตัวอย่างทุกวันนี้เวลาที่เรานึกอยากจะซื้อโทรทัศน์ บางครั้งเราเองไม่ได้นึกถึงโทรทัศน์ในฐานะที่เป็นวัตถุสิ่งของเครื่องใช้อย่างหนึ่ง แต่เรากลับนึกถึงแบรนด์เนม หรือชื่อที่ใช้ทางการค้า เช่น โซนี่ พานาโซนิก ซัมซุง ฯ สุดแท้แต่ว่าอิทธิพลในการครอบงำของบริษัทใดจะมีมากกว่า หรือเวลาที่เรากระหายเราก็จะนึกถึงโค้กหรือเป็บซี่ เป็นต้น

บริษัทบราวน์แอนด์วิลเลียมสัน ได้เคยยื่นฟ้องต่อศาลสหรัฐเพื่อขอให้รัฐนิวยอร์คยกเลิกการออกกฎหมายห้ามการจำหน่ายบุหรี่โดยการขายตรงทางการสั่งซื้อทางไปรษณีย์ ทางโทรศัพท์ และทางอินเทอร์เน็ต เนื่องจากบริษัทมีโครงการที่จะทำไดเร็คเซลกับผู้บริโภค ซึ่งในกฎหมายระบุว่าการกระทำดังกล่าวเป็นอาชญากรรม โดยทางบริษัทอ้างว่า การกระทำของรัฐนิวยอร์คเป็นการแทรกแซงทางการค้าที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

ตอนที่ผมเขียนบทความนี้อยู่ได้ลองเปิดเว็บไซต์เข้าไปที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ก็พบภาพและข้อความที่น่าสนใจ เป็นภาพของคาวบอยสองคนกำลังขี่ม้ามาด้วยกัน เข้าใจว่าคงเป็นภาพจากโฆษณาของบุหรี่ยี่ห้อหนึ่ง ข้อความด้านล่างของภาพบอกว่า “Bob, I’ve got cancer.” ขออนุญาตแปลเป็นไทยง่ายๆ ว่า “เฮ้ยบ๊อบ กูเป็นมะเร็งแล้วว่ะ” สำหรับผมค่อนข้างได้ความรู้สึกดีครับว่า มะเร็งซึ่งเป็นผลจากการสูบบุหรี่ที่เรากลัวกันนั้น หากจะมีผลกระทบต่อมนุษย์ก็แต่เฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่ หรือผู้ที่ได้รับควันพิษของบุหรี่เท่านั้น เพราะสุดท้ายเรายังเลือกได้ ที่จะไม่สูบไม่ไปอยู่ใกล้กับคนที่สูบ แต่มะเร็งที่เกิดจากระบบทุนนิยม ที่ครอบงำและทำลายวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ สร้างค่านิยมในการแสวงหากำไรแสวงหาความมั่งคั่ง ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ส่งเสริมค่านิยมในการบริโภค และก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม มาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 15 ต่างหากที่น่ากลัวกว่าหลายร้อยเท่า เพราะเราเลือกไม่ได้ เราทุกคนล้วนตกอยู่ภายใต้อำนาจและอิทธิพลของระบบอย่างยากที่จะถอนตัวออกไปได้……ผมว่าเราคงต้องทำอะไรสักอย่างกับเรื่องเหล่านี้

1 ความคิดเห็น: