วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

12 Angry Men: Courtroom Drama ที่ท้าทายคนดูหนัง

การที่จะตัดสินว่าใครเป็นคนดีหรือคนไม่ดีนั้น เราอาศัยอะไรเป็นเครื่องมือหรือปัจจัยที่ใช้ประกอบการพิจารณาวินิจฉัย โดยทั่วไปในชีวิตประจำวันเราอาศัยการรับรู้ (perception) เป็นเครื่องมืออันแรกในการตัดสินบุคคล การรับรู้ของคนเราก็แบ่งออกคร่าวๆ ได้ 2 ลักษณะคือ การรับรู้ลักษณะทางกายภาพ หรือรูปร่างลักษณะภายนอกที่เราสามารถสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า และการรับรู้ลักษณะทางจิต หรือสิ่งที่อยู่ภายในของคนนั้น เช่น ความรู้สึกนึกคิด ความเชื่อ ทัศนคติ ฯ ซึ่งไม่อาจสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า แต่ต้องอาศัยพูดคุยคบหาสมาคม ต้องอาศัยเวลาในการเรียนรู้จึงพอจะตัดสินได้ว่าบุคคลนั้นมีลักษณะทางจิตใจอย่างไร

กระบวนการรับรู้ของเราไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ แต่มีพื้นฐานอยู่บนประสบการณ์ที่เราได้รับ ได้เรียนรู้และสั่งสมมาตั้งแต่เรายังเป็นเด็ก ประสบการณ์เหล่านี้เปรียบเสมือนแหล่งข้อมูลแรกที่เรานำมาใช้ในการตัดสินบุคคลหรือแม้แต่ปรากฎการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา ยกตัวอย่าง เวลาที่เราเดินไปพบคนที่แต่งกายสุภาพเรียบร้อย สะอาดสะอ้าน ดูเป็นคนที่มีบุคลิกดี เราก็มักตัดสินจากการรับรู้ของเราว่า คนนั้นคงเป็นคนที่มีจิตใจดี มีคุณธรรม คำถามมีอยู่ว่าการตัดสินเช่นนั้นถูกต้องเสมอไปหรือไม่ คำตอบก็คือไม่เสมอไป บางครั้งคนที่แต่งตัวดีมีบุคลิกน่าเลื่อมไสกลับกลายเป็นคนที่มีวาจาหยาบคาย พูดจาไม่อยู่กับร่องกับรอยก็ได้ หรือบางคนที่มีวาจาสุภาพอ่อนหวาน แต่ปรากฎว่าจิตใจข้างในกลับเป็นคนที่เห็นแก่ตัว คิดทำร้ายและเอาเปรียบคนอื่นอยู่เสมอก็ได้เช่นกัน ลักษณะรูปร่างหน้าตาภายนอกใช้เป็นเครื่องตัดสินนิสัยใจคอของคนไม่ได้ เพราะฉะนั้นการที่เราจะตัดสินบุคคลจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับการรับรู้แต่เพียงรูปร่างภายนอก แต่ต้องอาศัยการรับรู้ลักษณะทางจิตที่อยู่ภายในคนคนนั้น การตัดสินบุคคลจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่เรามีอยู่เกี่ยวบุคคลในลักษณะเช่นนั้น แต่ขึ้นอยู่กับลักษณะที่แท้จริงที่คนคนนั้นเป็นอยู่ และการตัดสินบุคคลจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณค่าที่เราให้กับใครคนใดคนหนึ่ง แต่ขึ้นอยู่กับคุณค่าที่แท้จริงที่ดำรงอยู่ในคนคนนั้นต่างหาก

ผมพูดเรื่องนี้ก็เพราะว่าผมได้ดูหนังเรื่องหนึ่งชื่อเรื่องว่า “12 Angry Men” กำกับโดยวิลเลียม ฟรีดกิ้น ออกฉายครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1997 หนังเรื่องนี้นำแสดงโดยดาราที่มีชื่อเสียงหลายต่อหลายคน อาทิ แจ็ค เลมมอน ยอร์ช ซี สก๊อต คอร์ทนีย์ แวนซ์ ฯ ความจริงแล้วหนังเรื่องนี้ไม่ใช่เวอร์ชั่นแรก 12 Angry Men ฉบับแรกนั้นเป็นหนังที่ออกฉายเมื่อปี ค.ศ.1957 กำกับการแสดงโดยซิดนีย์ ลูเม็ต นำแสดงโดย เฮนรี่ ฟอนด้า ลี เจ ค๊อบบ์ แจ็ค วอร์เดน มาร์ติน บัลซั่ม ฯ ผมเองไม่ได้ดูฉบับแรกหรือเวอร์ชั่นแรก มาได้ดูในเวอร์ชั่นหลัง พอได้ดูก็ชอบตั้งแต่แรกเลยทีเดียวครับ

เรื่องโดยคร่าวๆ ก็มีอยู่ว่า เด็กหนุ่มคนหนึ่งถูกกล่าวหาว่าฆ่าพ่อตัวเอง คดีเข้าสู่การพิจารณาของศาล โดยมีคณะลูกขุน 12 คนที่จะต้องตัดสินว่าเด็กคนนั้นผิดหรือไม่ผิด หลังจากที่ได้รับฟังการไต่สวนพยานทั้งจากฝ่ายโจทย์และฝ่ายจำเลยแล้ว (ในหนังไม่ได้แสดงให้เห็นเหตุการณ์ในช่วงของการไต่สวน) โดยเหตุการณ์ที่เป็นส่วนสำคัญของหนังทั้งหมดเกิดขึ้นอยู่ภายในห้องห้องเดียวที่คณะลูกขุนทั้ง 12 คนใช้เป็นที่ที่พิจารณาหาคำตัดสินเพื่อเสนอต่อศาล ทั้งหมดมีอยู่แค่นี้เองครับ แต่ถึงแม้ว่าเนื้อเรื่องจะมีอยู่เท่านั้น ผมก็ยังเห็นว่าหนังเรื่องนี้น่าสนใจมาก เหตุผลของผมก็มีอยู่ว่า

ประการแรก หนังทั้งเรื่องดำเนินอยู่ภายในห้องห้องเดียว (ความจริงแล้วก็ไม่เชิงว่าจะอยู่ในห้องเดียวทั้งหมดหรอกนะครับ เพราะห้องนี้ยังมีห้องน้ำเล็กๆ อยู่อีกห้องหนึ่ง บางฉากของหนังก็เกิดขึ้นในห้องน้ำด้วยครับ แต่อย่างไรก็ตามเนื้อเรื่องหลักของหนังยังคงอยู่ในห้องเดียวเท่านั้น แต่ห้องน้ำนี้มีความหมายนะครับ ไว้ผมจะกล่าวถึงต่อไป) ซึ่งผมถือว่าค่อนข้างท้าทายคนดูมากๆ หนังเรื่องนี้ถูกจัดอยู่ในประเภทคอร์ทรูม ดรามา (courtroom drama) ซึ่งถ้าใครที่ไม่ชอบหนังแบบนี้แล้วละก็ อาจบอกว่าหนังค่อนข้างน่าเบื่อไปเลยก็ได้ อาจจะจริงครับเพราะคอร์ทรูม ดรามา ที่เราคุ้นเคยกันนั้นมักจะเป็นหนังที่แสดงให้เห็นการต่อสู้กันในศาลระหว่างฝ่ายโจทย์กับฝ่ายจำเลย ได้เห็นการไต่สวน การสืบพยาน การแสดงหลักฐาน ต่างๆ นานา จนไปถึงการตัดสินอันเป็นข้อสรุป แต่ใน 12 Angry Men เราไม่ได้เห็นเหตุการณ์แบบนั้นครับ เราไม่ได้เห็นบทบาทของอัยการโจทย์ เราไม่ได้เห็นบทบาทของทนายจำเลย เราไม่ได้เห็นบทบาทของผู้พิพากษา แต่เรากลับเห็นคณะลูกขุนที่มานั่งรวมกันอยู่ในห้องเล็กๆ ห้องหนึ่ง ท่ามกลางอากาศภายนอกที่ร้อนอบอ้าว เพื่อร่วมกันพิจารณาลงความเห็นว่าจำเลยผิดจริงตามข้อกล่าวหาหรือไม่ และที่สำคัญหนังประเภทนี้มีแต่บทสนทนา คือพูดกันทั้งเรื่อง เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่กล้าและสามารถที่จะทำหนังทั้งเรื่องให้ดำเนินอยู่ในห้องห้องเดียวได้ โดยที่ตรึงเราไว้กับที่นั่งได้ตลอดเวลา ก็คุ้มค่าพอที่เราจะนั่งดูไปจนจบไม่ใช่หรือครับ

ประการที่สอง หนังเรื่องนี้มีตัวละครหลักอยู่ 12 คน ซึ่งแต่ละคนก็จะมีคาแรคเตอร์ต่างกัน มีพื้นฐานทางสังคมต่างกัน ประสบการณ์ต่างกัน อุปนิสัยใจคอต่างกัน ดังนั้นการจะทำให้ผู้ชมเข้าใจพื้นฐานของตัวละครแต่ละคนจึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย ในฉากแรกที่ทั้งสิบสองคนเดินลงไปในห้องประชุมด้านล่าง เป็นฉากที่ปูพื้นให้เห็นถึงลักษณะของแต่ละคนตั้งแต่แรก ซึ่งผมเห็นว่าวิลเลียม ฟรีดกิ้น ทำได้ค่อนข้างดีทีเดียว (อย่างว่าละครับให้เครดิตกับผู้กำกับคนเดียวไม่ได้หรอก ต้องยกความดีให้กับคนเขียนบทด้วยครับที่เขียนได้ดีทีเดียว) ฉากแรกของหนังนี่สำคัญจริงๆ นะครับ หนังจะชวนติดตามหรือไม่ ฉากแรกของหนังมีส่วนช่วยได้มาก
นานมาแล้วครับที่มหาวิทยาลัยที่ผมทำงานอยู่ มีโปรเฟสเซอร์ชาวอเมริกันคนหนึ่ง ที่สอนเกี่ยวกับภาพยนตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาวาย เดินทางมาที่มหาวิทยาลัย มาบรรยายเกี่ยวกับเรื่องของหนังนี่แหละครับ ผมจำชื่อแกไม่ได้ แต่แกเคยเอาหนังที่แกใช้สอนที่มหาวิทยาลัย มาฉายให้พวกเราดูสองเรื่อง เรื่องแรกคือเรื่อง Biloxi Blues อีกเรื่องก็คือ The Godfather Part I ของฟรานซิส ฟอร์ด คอบโพล่า แกบอกว่าเรื่องหลังนี้เป็นตัวอย่างที่คลาสสิกของฉากเปิดเรื่องที่ถือว่าสมบูรณ์แบบมาก

ถ้าใครที่เคยดู The Godfather แล้วคงจำได้นะครับว่าหนังเรื่องนี้ตัวละครสำคัญๆ มีมาก ดังนั้นจึงค่อนข้างยากที่จะปูพื้นให้คนดูเข้าใจถึงบุคลิกลักษณะและนิสัยใจคอของตัวละครทุกตัวได้ตั้งแต่แรก แต่คอปโพล่าทำได้ โดยอาศัยฉากงานเลี้ยงในบ้านของ ดอนวีโต้ คอร์ลีโอเน่ ที่จัดขึ้นเพื่อรับการกลับมาของไมเคิล คอร์ลีโอเน่ ลูกชายคนสุดท้องของตระกูลที่ไปเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นฉากเปิดเรื่อง ซึ่งทำให้เราได้รู้จักตัวละครทุกตัวได้ภายในฉากเดียว ในความเห็นของผมค่อนข้างเห็นด้วยกับแกครับ (ไม่ทราบว่าท่านเห็นด้วยกับโปรเฟสเซอร์คนนั้นหรือไม่ ถ้าไม่แน่ใจลองกลับไปดูหนังเรื่องนี้ใหม่สิครับ)

ประการที่สาม ซึ่งเป็นประการสำคัญก็คือ หนังเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงวิธีการที่มนุษย์เราใช้ในการตัดสินคุณค่าของบุคคลในสังคมได้เป็นอย่างดี อย่างที่ผมกล่าวไว้ตั้งแต่แรกว่า คนเราใช้กระบวนการรับรู้เป็นเครื่องมืออันแรกที่ใช้ตัดสิน โดยอาศัยประสบการณ์ที่มีอยู่เป็นพื้นฐาน ซึ่งบางครั้งอาจจะผิดได้ สิ่งที่หนังเรื่องนี้บอกกับเราก็คือ เราในฐานะที่เป็นมนุษย์ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษกว่าสัตว์อื่นตรงที่สามารถคิดอย่างมีเหตุผลได้นั้น กลับไม่ได้พยายามใช้เหตุผลและการแสวงหาข้อเท็จจริงเข้ามาช่วยในการตัดสินใจของเราเลย

การที่เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในห้องห้องเดียว ที่คณะลูกขุนทั้งสิบสองคนเข้าไปแล้วจะออกมาไม่ได้จนกว่าจะได้คำตัดสิน อากาศภายนอกก็ร้อนอบอ้าว และแต่ละคนก็อยากจะลงมติเสียให้เสร็จๆ ไปจะได้กลับบ้านกลับช่องเสียที เป็นสภาพที่ก่อให้เกิดเป็นความเครียดขึ้นได้ไม่ยาก และจริงๆ แล้วผู้กำกับก็ต้องการเช่นนั้น ความเครียดของตัวละครแต่ละคนค่อยๆ เพิ่มขึ้นๆ เป็นลำดับ ทำนองเดียวกันกับผู้ชมก็เกิดเป็นความรู้สึกอึดอัดไม่แพ้กับตัวละครในหนังสักเท่าไร

อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าลูกขุนทั้งสิบสองคน ซึ่งจะออกมาข้างนอกไม่ได้ จะไม่มีช่องทางผ่อนคลายความเครียดหรือความรู้สึกอึดอัดเสียทีเดียว หน้าต่างเล็กๆ ที่อยู่บนผนังสองบานเป็นช่องทางหนึ่งที่ใช้ผ่อนคลายได้ อีกทางหนึ่งก็คือห้องน้ำ ที่แต่ละคนเข้าไปใช้ล้างหน้าล้างตา ทำธุระต่างๆ ก็ถือได้ว่าคือช่องทางที่ตัวละครอาศัยเป็นที่ระบายความเครียดได้ อันที่จริงไม่เฉพาะแต่ตัวละครเท่านั้น ผมคิดว่าทั้งหน้าต่างและห้องน้ำเปรียบได้กับช่องทางระบายความอึดอัดในการติดตามดูหนังเรื่องนี้ ที่ทั้งผู้กำกับและคนเขียนบทเจตนาที่จะทำไว้ให้กับคนดูด้วย

อันที่จริงก่อนที่ลูกขุนทั้ง 12 คนจะลงมาประชุมในห้องนั้น ผู้พิพากษาได้บอกกับคณะลูกขุนไว้ว่า สิ่งที่พวกเขาจะต้องดำเนินการก็คือ แยกแยะความจริงออกจากการให้การของพยานต่างๆ โดยให้ใช้เหตุผล คำนึงถึงความเป็นธรรม และความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่เป็นสำคัญ แต่เมื่อลงมาข้างล่าง แทนที่จะมีการอภิปรายเกี่ยวกับข้อมูลที่ได้จากคำให้การของพยาน ส่วนใหญ่กลับต้องการให้มีการลงมติทันทีว่าเด็กคนนั้นผิดจริงหรือไม่ การตัดสินตรงนี้ต้องไม่มีข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น หากมีข้อสงสัยไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ผู้พิพากษาได้กล่าวไว้ตอนต้นแล้วว่า ขอให้ตัดสินว่าเด็กคนนั้นไม่มีความผิด ดังนั้นความเห็นของลูกขุนต้องเป็นเอกฉันท์ ต้องเห็นพ้องต้องกันโดยไม่มีข้อสงสัยใดๆ ว่าเด็กคนนั้นผิดจริง แต่กลับมีการเสนอให้ลงมติทันที ซึ่งปรากฎว่าในจำนวนลูกขุนทั้ง 12 คน มีผู้ที่เห็นว่าเด็กหนุ่มมีความผิดฐานฆ่าพ่อตัวเองจริง 11 คน และเห็นว่าไม่มีความผิด 1 คน

ผลการลงมติในครั้งแรกเป็นสิ่งที่ชี้ให้เราเห็นได้เป็นอย่างดีว่า มนุษย์เราใช้การรับรู้ที่มีพื้นฐานบนประสบการณ์ที่ตัวเองมีอยู่ ในการตัดสินบุคคลและเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิตเป็นประจำ เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะง่ายดี เร็วดี และเหมาะสมดีแล้วนั่นเอง โดยที่เราไม่เคยคิดต่อไปว่าผลที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการตัดสินของเรานั้นจะเป็นอย่างไร ยิ่งผลที่จะเกิดตามมาไม่เกี่ยวกับหรือไม่มีผลใดต่อเรามากเท่าไร เราก็ยิ่งไม่คำนึงถึงเหตุผล ความยุติธรรม และความถูกต้องมากเท่านั้น

การตัดสินบุคคลโดยอาศัยเพียงการรับรู้และประสบการณ์ทำให้เรามองคนผิดมานักต่อนัก เราได้เห็นคนที่ปากกับใจไม่ตรงกัน เราได้เห็นคนบาปในคราบนักบุญ เราได้เห็นคนที่สัญญาอะไรต่ออะไรไว้กับประชาชนแต่ไม่เคยทำอย่างที่พูดไว้สักอย่างเดียว เราเชื่อว่าคนที่เอาข้าวเอาของเอาเงินมาแจกเราน่าจะเป็นคนดีทำประโยชน์ให้เราได้ แต่สุดท้ายก็คอรับชั่นแล้วเอาเงินเหล่านั้นนั่นแหละมาแจกเราอีกทีหนึ่ง เราเชื่อว่าคนที่มีการศึกษาสูงมีความรู้ความสามารถจะช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ในบ้านเมืองได้ เอาเข้าจริงกลับล้มเหลวไม่เคยแก้ไขอะไรได้ เพราะสิ่งที่พวกเขาคำนึงถึงไม่ใช่ผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม แต่เป็นเพียงผลประโยชน์ของกลุ่มพวกพ้องตนเองมากกว่า

ด้วยเหตุที่เราตัดสินคนกันด้วยการรับรู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับรู้จากปัจจัยภายนอก จึงทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่คำนึงถึงและให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ (image) เป็นอันดับแรก คนในสังคมต่างพยายามสร้างภาพของตัวเองให้ดูดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ เพื่อปกปิดตัวตนที่แท้จริงเอาไว้ กระบวนการสร้างภาพลักษณ์มีอยู่ทุกวงการครับ ไม่ว่าจะเป็นวงการการเมือง วงการธุรกิจ วงราชการ ฯ ไม่เว้นแม้แต่วงการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ผมอยู่ และด้วยเหตุที่เราคำนึงกันแต่ภาพลักษณ์ ไม่ได้ให้ความสำคัญและไม่ใส่ใจกับความจริง ความถูกต้อง และความยุติธรรม สังคมไทยจึงเป็นสังคมที่อ่อนแอ เป็นสังคมที่จำแนกแยกแยะความดีกับความเลวไม่ได้ เป็นสังคมที่ไม่อาจสร้างความยุติธรรมที่แท้จริงให้เกิดขึ้นได้ เป็นสังคมที่มีแต่ภาพมายาบดบังภาพที่แท้จริงเอาไว้จนใครก็มองไม่เห็น

ผมไม่เล่าต่อครับว่าหนังจบอย่างไร ผมอยากให้ท่านลองหามาดู บางทีท่านอาจจะเชื่ออย่างที่ผมเชื่อก็ได้ว่าประสบการณ์และการรับรู้ของคนในสังคม กลับกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนในสังคมต่างเอาตัวรอด ไม่คิดและไม่สนใจที่จะแสวงหาและทำความจริงให้ปรากฏ

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

Music of the Heart หนังที่นักปฏิรูปการศึกษาควรดู

บางครั้งเวลาที่เราดูหนังเราจะเกิดความรู้สึกว่าไม่อยากให้หนังเรื่องนั้นจบ อยากจะให้หนังเล่าเหตุการณ์ต่อไปเรื่อยๆ เพราะเราเกิดความประทับใจบางอย่างในหนังเรื่องนั้น แม้ว่าหนังจะไม่ใช่หนังที่ได้รับรางวัลอะไรเลย แต่เราก็รู้สึกผูกพันกับหนังเรื่องนั้นอย่างบอกไม่ถูก โดยรู้แต่เพียงอย่างเดียวว่าไม่อยากให้จบ

Music of the Heart เป็นหนังอีกเรื่องหนึ่งที่ผมดูแล้วรู้สึกประทับใจบางอย่างและไม่อยากให้หนังจบ หนังเรื่องนี้กำกับโดยราชาหนังสยองขวัญ เวส คราเวน (ผู้ซึ่งกำกับหนังที่เรารู้จักกันดีอย่าง Nightmare on Elm Street และ Scream) นำแสดงโดยเมอริล สตรีพ, ไอดัน ควินน์, แองเจล่า บาสเสท, และกลอเรีย เอสตาฟาน ฯ แม้ว่าหนังจะไม่ได้รับรางวัลอะไรก็ตาม ทั้งที่ได้รับเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ในสาขา นักแสดงหญิงยอดเยี่ยม และสาขาเพลงประกอบยอดเยี่ยม รวมทั้งได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงลูกโลกทองคำในสาขานักแสดงหญิงยอดเยี่ยมก็ตาม แต่หนังก็มีคุณค่าควรแก่การชมและให้แง่คิดที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการปฏิรูปการศึกษา

Music of the Heart สร้างจากเรื่องจริงของผู้หญิงคนหนึ่งที่ชื่อว่า โรเบอร์ต้า กัสปารี ซาวาราส (Roberta Guaspari Tsavaras) ที่ผูกพันอยู่กับสามีนายทหารเรือจนไม่มีโอกาสที่จะเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ชีวิตของเธอและลูก 2 คน นิคกับเล็กซี่ (แสดงโดย ไมเคิล แองการาโน และเฮนรี่ ดินโฮเฟอร์ ในวัยเด็ก และ ชาร์ลี ฮอฟไฮเมอร์ และ เคียรัน คัลกิ้น ในตอนวัยรุ่น) ต้องขึ้นอยู่กับสามีแต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่ว่าสามีจะย้ายไปประจำการที่ไหนเธอก็จำต้องย้ายตามไปด้วย โรเบอร์ต้าไม่มีโอกาสได้ทำงานอย่างอย่างเต็มที่ ขีวิตสมรสและความเป็นครอบครัวของเธอต้องแลกด้วยอาชีพที่เธอรัก นั้นคือการสอนไวโอลิน

จนกระทั่งเมื่อเธอถูกสามีทิ้งไปมีผู้หญิงคนอื่น ชีวิตสมรสและความเป็นครอบครัวของเธอพังทลายลง เธอจึงเหมือนหมดความหมาย เธอและลูกต้องออกมาใช้ชีวิตกันโดยลำพัง เธอพยายามทุกอย่างที่จะทำให้สามีของเธอกลับมา แต่ไม่เป็นผล สุดท้ายคือต้องแยกทางกัน แม้ว่าเธอจะประสบปัญหา แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีส่วนดี คือเธอได้พ้นออกมาจากชีวิตที่ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง พ้นจากพันธนาการของสามี และได้มีโอกาสที่จะได้ทำในสิ่งที่ตนรัก ชีวิตจริงๆ ของเธอจึงเริ่มต้นขึ้นเมื่อได้เข้าไปสอนในโรงเรียนของรัฐแห่งหนึ่งในย่านอีสต์ฮาร์เล็ม นิวยอร์ค โรงเรียนดังกล่าวตั้งอยู่ในย่านที่มีผู้คนต่างเชื้อชาติมาอาศัยอยู่รวมกัน ทั้งคนผิวดำ พวกฮีสปานิก(Hispanic หรือพวกที่มีเชื้อสายสเปนในแถบอเมริกาใต้)และคนเอเซีย เด็กๆ ในชั้นเรียนไวโอลินของเธอจึงหลากหลายเชื้อชาติหลากหลายวัฒนธรรม

เด็กในชั้นเรียนไวโอลินของโรเบอร์ต้าส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ด้อยโอกาส ความจริงแล้วไม่มีใครเชื่อว่าเธอจะสามารถสอนเด็กเหล่านี้ได้ ทางโรงเรียนเองก็ไม่ค่อยจะแน่ใจเท่าไรนักว่าเด็กจะให้ความสนใจและเป็นประโยชน์แก่เด็กอย่างแท้จริง ทางครอบครัวของเด็กเองก็ไม่ใคร่จะมั่นใจ บางครอบครัวก็ไม่ให้การสนับสนุน ยิ่งตัวเด็กเองด้วยแล้วพวกเขามองครูโรเบอร์ต้าด้วยความรู้สึกที่ไม่ยอมรับสักเท่าไรนัก การเรียนการสอนไวโอลินก็เหมือนกับการเรียนดนตรีประเภทอื่น ที่ต้องอาศัยการฝึกซ้อมอยู่เป็นประจำจึงจะสามารถเล่นได้ดี จากความตั้งใจของเธอในที่สุดเด็กนักเรียนในชั้นของเธอก็สามารถเล่นไวโอลินได้ดีขึ้นเป็นลำดับ สามารถเล่นบทเพลงที่มีความซับซ้อนได้ดียิ่งขึ้น

ในแต่ละปีเด็กต้องการเข้ามาเรียนไวโอลินกับครูโรเบอร์ต้ามากขึ้นจนรับได้ไม่หมด ต้องมีการคัดเลือก เป็นอยู่อย่างนี้กว่าสิบปี จนในที่สุดทางคณะกรรมการของโรงเรียนก็ตัดสินใจยกเลิกชั้นเรียนไวโอลินของเธอ เนื่องจากปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายของโรงเรียน เธอไม่ยอมแพ้ เธอพร้อมด้วยการสนับสนุนของเพื่อนๆ ตลอดจนผู้ปกครองของเด็กๆ นักเรียน และคนในชุมชนร่วมกันต่อสู้เพื่อไม่ให้ชั้นเรียนไวโอลินนี้ถูกยุบ

เธอพยายามติดต่อผู้คนที่เกี่ยวข้องให้ได้รับทราบปัญหาดังกล่าว เธอติดต่อนักดนตรีคลาสสิกให้มาเยี่ยมเยียมชั้นเรียนของเธอ และชมเด็กๆ นักเรียนของเธอแสดง จนในที่สุดได้มีการก่อตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการสอนไวโอลินของเธอขึ้นเรียกว่า “The Opus 118 Music Center” โดยจัดให้มีการแสดงคอนเสิร์ตไวโอลินเก็บเงินจากผู้ที่เข้ามาชมที่คาร์เนกี้ฮอลล์ ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตของเธอ เธอและนักเรียนของเธอได้รับการชื่นชมเป็นอย่างมากจากการแสดงในคราวนั้น ชั้นเรียนไวโอลินของเธอจึงยังอยู่และยังคงเปิดสอนต่อไป

อย่างที่ผมบอกหนังเรื่องนี้ให้แง่คิดในเรื่องของการปฏิรูปการศึกษาได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถสะท้อนให้เห็นถึงหัวใจของการปฏิรูปการศึกษาที่ชัดเจนว่าไม่ได้อยู่ที่ระบบ ระเบียบ หรือการจัดการใดๆ ทั้งสิ้น แต่อยู่ที่ตัวบุคคลโดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่เป็นครูนี่เอง
ผมนั่งดูหนังเรื่องนี้แล้วทำให้นึกย้อนไปเมื่อสักสี่สิบกว่าปีที่แล้ว ที่ผมยังเรียนหนังสืออยู่ในโรงเรียนเทศบาลเล็กๆ แห่งหนึ่งย่านฝั่งธนบุรี ผมว่าครูในโรงเรียนที่ผมเรียนสมัยยังเด็กนั้นไม่ต่างกับครูโรเบอร์ต้าสักเท่าไรนัก คือเป็นครูที่มุ่งมั่นในวิชาที่ตนสอน มีความรักในการสอน มีความรู้สึกผูกพันอยู่กับเด็ก คอยเอาใจใส่ไม่เฉพาะแต่การเรียนในชั้น นอกชั้นเรียนครูก็คอยดูแลไต่ถามทุกข์สุขอยู่เสมอ ผมจำได้ดีว่าเวลาที่ผมหรือเด็กในชั้นไม่สบาย มาโรงเรียนไม่ได้ ครูก็จะมาเยี่ยมมาไต่ถามอาการถึงที่บ้าน (เนื่องจากบ้านกับโรงเรียนอยู่ไม่ห่างกันเท่าไรนัก) ผมว่านอกจากอาชีพที่เป็นครูผู้สอนแล้ว ครูเหล่านี้ยังทำหน้าที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองอีกทางหนึ่งด้วย แม้ว่าสมัยก่อนจะไม่ได้ใช้ปรัชญาการเรียนการสอนแบบที่ยึดเอานักเรียนเป็นศูนย์กลาง (student center หรือ child center) อย่างสมัยนี้ หรือสอนไปก็ต้องเหลือบดูตัวบ่งชี้คุณภาพไป แต่เด็กนักเรียนสมัยนั้นก็ได้รับประโยชน์จากการเรียนการสอนแบบเดิมไม่ได้น้อยไปกว่าปัจจุบันสักเท่าไร

ครูโรเบอร์ต้าก็เช่นเดียวกัน เธอมีชีวิตอยู่สองด้านที่สำคัญ ด้านหนึ่งเธอคือครูของเด็กนักเรียนในชั้นเรียนไวโอลินที่โรงเรียน อีกด้านหนึ่งเธอคือแม่ของลูกสองคนที่ถูกสามีทิ้งไปมีผู้หญิงคนอื่น นอกจากการเรียนการสอนที่โรงเรียนแล้ว เธอยังต้องสอนลูกของเธอ อบรมดูแลลูกของเธอที่บ้านด้วย ส่วนตัวของเธอเองก็มีปัญหาอยู่ไม่น้อย แต่สิ่งเหล่านั้นไม่ได้ทำให้ความมุ่งมั่นในการสอนไวโอลินของเธอลดน้อยลงไป ความเป็นครูในตัวของเธอและปรัชญาการสอนไวโอลินของเธอต่างหากที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า โรเบอร์ต้าก็เหมือนกับครูโรงเรียนเทศบาลในอดีตของผม คือเธอจะมุ่งมั่นในการสอน รักและผูกพันอยู่กับเด็ก เอาใจใส่เด็กเหมือนกับเป็นลูก มีวิญญาณของความเป็นครูที่พร้อมจะให้ความรู้แก่เด็กอย่างเต็มความสามารถ ฉากที่เธอไปเยี่ยมเด็กนักเรียนชายคนหนึ่งถึงบ้าน ที่รู้สึกว่าตัวเองมีส่วนต่อการตายของเพื่อนร่วมชั้น เป็นฉากที่ชี้ให้เห็นถึงความรู้สึกผูกพันและเอาใจใส่ในความรู้สึกของนักเรียนของเธอได้เป็นอย่างดี ในกรณีนี้ผมไม่ได้หมายความว่าครูที่ดีจะต้องไปเยี่ยมบ้านนักเรียนที่เป็นปัญหาทุกคน แต่ผมหมายความว่าครูที่ดีคือครูที่ต้องรู้จักและเข้าใจธรรมชาติของเด็กนักเรียนของตน เอาใจใส่เด็กนักเรียนของตนอยู่เสมอต่างหาก โรเบอร์ต้าจะไม่มีวันรู้เลยว่าเด็กนักเรียนคนนั้นรู้สึกคับข้องใจว่าตนนั้นมีส่วนในการตายของเพื่อน ถ้าเธอไม่ได้เป็นคนที่หมั่นสังเกตพฤติกรรมของเด็กในชั้นของเธอ

ที่สำคัญวิธีการสอนไวโอลินของเธอเป็นสิ่งที่สะท้อนปรัชญาของการศึกษาที่แท้จริงอย่างน้อยสี่ประการกล่าวคือ ประการที่หนึ่ง เนื่องจากเด็กแต่ละคนต่างกัน การจัดการศึกษาให้กับแต่ละคนจึงต่างกัน สิ่งที่ต่างกันไม่ใช่เนื้อหาสาระในวิชาที่เรียน แต่เป็นวิธีการที่ใช้ต่างหาก มีอยู่หลายฉากที่ชี้ให้เห็นถึงปรัชญาดังกล่าว เช่น การที่ต้องรับมือกับเด็กที่ไม่สนใจในบทเรียนไม่เห็นความสำคัญของบทเรียน เด็กที่คอยแกล้งเด็กคนอื่นในชั้น แต่ที่สำคัญคือฉากที่เธอบอกกับเด็กผู้หญิงคนหนึ่งว่า แม้ว่าท่วงท่าการยืนและตำแหน่งของเท้าในระหว่างที่เล่นไวโอลินมีส่วนสำคัญต่อการเล่นสักเพียงใด แต่หากเราไม่สามารถยืนได้ถนัด (เนื่องจากเด็กคนนั้นมีปัญหาทางสรีระ) ก็สามารถที่จะนั่งและเล่นไวโอลินได้ดีได้เช่นกัน หรือการที่เด็กแต่ละคนมีรูปร่างต่างกัน ไวโอลินที่ใช้จึงต่างขนาดกันไปด้วย ก็เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงปรัชญาการศึกษาในข้อนี้เป็นอย่างดีว่าเราไม่จำเป็นต้องแบ่งแยกเด็ก หรือเลือกเนื้อหาสาระให้กับเด็กแตกต่างกัน เด็กเหล่านี้แม้จะมีความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา สีผิว บางคนอาจเป็นเด็กเกเร บางคนอาจเป็นเด็กที่มีปัญหา แต่เด็กเหล่านี้ก็เรียนร่วมอยู่ในชั้นเดียวกัน ไม่มีการแบ่งว่าเป็นเด็กเรียนเก่งหรือเด็กเรียนอ่อน เนื้อหาสาระที่เรียนก็เรียนเรื่องเดียวกัน แม้ว่าจะต่างวิธีการไปบ้างสำหรับบางคน ผลที่เกิดขึ้นก็คือเด็กในชั้นสามารถที่จะเรียนไวโอลินได้เหมือนกัน

ประการที่สอง โรเบอร์ต้าแสดงให้เราเห็นว่า การเรียนที่แท้จริงนั้นไม่ได้จำกัดอยู่ที่โรงเรียนเท่านั้น บ้านก็เป็นห้องเรียนได้ และค่อนข้างจะเป็นห้องเรียนที่สำคัญด้วยซ้ำ เพราะเป็นที่ที่เด็กจะได้มีโอกาสฝึกฝน สั่งสมประสบการณ์ และเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง โดยการสนับสนุนจากพ่อแม่และคนในครอบครัว สิ่งเหล่านี้จะสร้างขึ้นได้ต้องอาศัยความทุ่มเทของครูและโรงเรียนที่จะทำให้เด็กเห็นความสำคัญของการฝึกฝน และทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเห็นถึงความตั้งใจจริงของครูและโรงเรียน ไม่ใช่จะอาศัยแต่เพียงการออกกฎหมายมาปฏิรูปอย่างโน้นอย่างนี้แล้วจะเกิดผล

ประการที่สาม การเรียนการสอนที่แท้จริงไม่ได้เป็นทั้งแบบที่ครูเป็นศูนย์กลาง (teacher center) หรือแบบที่เด็กนักเรียนเป็นศูนย์กลาง (student/child center) อย่างที่สังคมไทยเรากำลังเรียกร้องและพยายามปฏิรูปกันนักหนา แต่จะต้องเป็นแบบที่ความรู้คือศูนย์กลาง (knowledge center) คือหมายถึงว่าครูและนักเรียนต่างเรียนรู้ร่วมกัน เรียนรู้ไปพร้อมกัน กรณีของไวโอลินเด็กนักเรียนจะได้รับความรู้และเทคนิคพื้นฐานในการเล่นจากครู ได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์จากครู ทั้งยังซึมซับเอาความรู้เหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต ปัญหามีอยู่ว่าแล้วครูล่ะเรียนรู้อะไร สิ่งที่ครูเรียนรู้ก็คือความเป็นตัวตนที่แท้ของนักเรียน เรียนรู้วิธีการที่จะทำให้เด็กเหล่านั้นสามารถค้นหาตัวเองให้พบ เรียนรู้พัฒนาการของวิชาที่ตนกำลังสอน รวมทั้งเรียนรู้การแสวงหาสัมฤทธิผลในการสอนร่วมกันกับเด็กนักเรียน การที่ครูโรเบอร์ต้าเล่นไวโอลินร่วมกับเด็กในชั้นเรียนต่อหน้าบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครอง และครูคนอื่นที่โรงเรียน รวมทั้งการที่เธอเล่นไวโอลินร่วมกับเด็กๆ ในการแสดงคอนเสิร์ตที่คาร์เนกี้ฮอลล์ เป็นสิ่งที่แสดงถึงปรัชญาในข้อนี้ได้เป็นอย่างดี

ประการที่สี่ หนังสะท้อนให้เห็นถึงการจัดการศึกษาที่ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างชัดเจน จากกรณีที่โครงการสอนไวโอลินของครูโรเบอร์ต้าจะถูกยกเลิก อันเนื่องมาจากปัญหาทางด้านงบประมาณ ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่เห็นความสำคัญของการเรียนการสอนวิชาดนตรี ที่เห็นความทุ่มเทของครูโรเบอร์ต้า ที่เห็นผลสัมฤทธิที่เกิดขึ้นกับตัวเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในชุมชนอีสต์ฮาร์เล็ม ต่างร่วมแรงร่วมใจให้การช่วยเหลือสนับสนุนเพื่อให้โครงการสอนไวโอลินของเธอยังอยู่ต่อไป ประเด็นสำคัญก็คือ ความร่วมมือและความช่วยเหลือเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากการกำหนดนโยบายของรัฐ ไม่ได้เกิดจากการออกพระราชบัญญัติปฏิรูปการศึกษาใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่ว่าจะกำหนดนโยบายการศึกษาอย่างไร จะออกกฎหมายปฏิรูปการศึกษาอย่างไร ก็ไม่มีทางที่จะทำให้ความร่วมมืออย่างนี้เกิดขึ้นได้ แต่ที่เกิดขึ้นได้นั้นมาจากสิ่งที่พวกเขาได้เห็นจากครูที่สอนลูกๆ ของเขา และจากพัฒนาการของเด็กๆ ที่เป็นลูกของพวกเขาต่างหาก

ผมคิดว่าคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในวงการปฏิรูปการศึกษาในบ้านเรา รวมทั้งบรรดานักวิชาการด้านการศึกษาและพ่อแม่ผู้ปกครองทั้งหลาย ควรที่จะดูหนังเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะผมไม่แน่ใจว่าการปฏิรูปการศึกษาที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยของเรานั้น จะสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด และสามารถพัฒนาการเรียนการสอนในบ้านเราไปได้สักแค่ไหน ดูเหมือนยิ่งมีการปฏิรูปมากเท่าไร การศึกษาบ้านเราก็ยิ่งมีช่องว่างระหว่างคนที่มีโอกาส กับคนที่ด้อยโอกาสมากเท่านั้น ยิ่งปฏิรูปการศึกษามากเท่าไร เราก็ยิ่งแบ่งแยกเด็กมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งปฏิรูปการศึกษามากเท่าไร เด็กก็ยิ่งต้องเรียนกวดวิชามากยิ่งขึ้นเท่านั้น ยิ่งปฏิรูปการศึกษามากเท่าไร ครูก็ยิ่งห่างเหินจากเด็กมากเท่านั้น และยิ่งปฏิรูปการศึกษามากเท่าไร ชีวิตคนเราก็ยิ่งแข่งขันมากขึ้นเท่านั้น

ผมดูหนังเรื่อง Music of the Heart แล้วไม่อยากให้หนังเรื่องนี้จบด้วยเหตุผลสองประการ ประการแรกผมอยากเห็นความสำเร็จของเด็กๆ รุ่นแล้วรุ่นเล่าที่ครูโรเบอร์ต้าเป็นผู้สอน อยากดูพวกเขาแสดงคอนเสิร์ตอย่างที่คาร์เนกี้ฮอลล์อย่างไม่รู้จบ เพราะรู้สึกมีความสุขที่ได้เห็นและได้ฟัง ประการที่สองผมอยากให้คนอื่นได้เห็นหนังเรื่องนี้เหมือนอย่างที่ผมเห็น อยากให้คนที่ไม่ได้ดู ได้ดู เพื่อที่ว่าทุกคนจะได้เข้าใจว่าคุณภาพทางการศึกษาไม่ใช่อะไรทั้งสิ้น นอกจากความผูกพันแน่นแฟ้นที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างครูกับนักเรียนนั่นเอง

วันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

อำนาจทุนนิยมใน The Insider

ใครจะไปคิดว่าบุหรี่ที่คนสูบกันทุกวันนี้ นอกจากจะส่งผลร้ายในทางสุขภาพของผู้คนในสังคมแล้ว ยังเป็นภัยคุกคามมนุษย์ในเชิงอุดมการณ์ของมนุษยชาติอีกด้วย The Insider คือหนังที่บอกเรื่องราวเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี ในความเห็นของผม หนังเรื่องนี้สะท้อนให้เราเห็นถึงพลังอำนาจของระบบทุนนิยมโลกได้เป็นอย่างดี The Insider สร้างจากเรื่องจริงของนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำที่เชี่ยวชาญในทางเคมีคนหนึ่งชื่อ ดร. เจฟฟรีย์ ไวเกนด์ ซึ่งทำงานให้กับบริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาที่ชื่อว่า บราวน์แอนด์วิลเลียมสัน ซึ่งเป็นผู้ผลิตบุหรี่ที่เราคนไทยรู้จักกันดีในแบรนด์เนมว่า คูล (Kool) กับลัคกี้ สไตรก์ (Lucky Strike) ฯ ไวเกนด์นั้นถูกไล่ออกจากบริษัท เนื่องจากผู้บริหารอ้างว่ามีปัญหาในการสื่อสาร (poor communication) ว่ากันง่ายๆ ก็คือ เริ่มที่จะไม่อยู่ในการควบคุมของบริษัท เนื่องจากไวเกนด์ไม่อาจจะยอมรับกับนโยบาย และพฤติกรรมในการดำเนินธุรกิจของบริษัทได้อีกต่อไป

ในสหรัฐอเมริกาจะมีกฎหมายควบคุมปริมาณนิโคตินซึ่งเป็นสารเสพติดที่อยู่ในบุหรี่ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อผู้บริโภคมากเกินไป แต่บราวน์แอนด์วิลเลียมสันก็พยายามเลี่ยงโดยการใช้วิธีการทางเคมีโดยการเติมแอมโมเนีย อันเป็นผลทำให้ร่างกายมนุษย์สามารถดูดซับนิโคตินได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลก็คือเราจะตกเป็นทาสบุหรี่มากขึ้น รวมทั้งยังมีการใช้สารคูมารีนในการผลิต ซึ่งสารตัวนี้มีผลที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งในร่างกายได้ นี่คือสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์อย่าง ดร.ไวเกนด์ ยอมไม่ได้เพราะเป็นพฤติกรรมที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคและสังคม เป็นพฤติกรรมที่มุ่งเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัว ไม่คำนึงถึงผลกระทบร้ายแรงที่จะเกิดกับประชาชนผู้บริโภค

ผมว่าเราทุกคนทราบดีว่าบุหรี่นั้นเป็นสินค้าที่แทบจะหาประโยชน์จากการบริโภคไม่ได้เลยสักนิดเดียว บุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของการตายอันเนื่องมาจากมะเร็งในปอด รวมทั้งโรคถุงลมโป่งพอง พิษของนิโคตินที่อยู่ในบุหรี่ก็คือเพชรฆาตเราดีดีนี่เอง ในปัจจุบันคนที่สูบบุหรี่เป็นคนที่สังคมค่อนข้างจะรังเกียจ เพราะควันบุหรี่แม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นคนสูบเอง แต่หากได้สูดเข้าร่างกายเนื่องจากอยู่ใกล้กับคนที่สูบ ก็ได้รับผลร้ายไม่ต่างอะไรกับคนที่สูบเอง

ดร.ไวเกนด์ ถูกไล่ออกจากบริษัทพร้อมด้วยพันธนาการอันหนึ่งติดตัวมาก็คือ สัญญาไม่เปิดเผยข้อมูลหรือความลับของบริษัท นั่นหมายความว่า ทั้งๆ ที่ไวเกนด์รู้ดีว่าบริษัทกำลังทำร้ายประชาชน เขาก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรได้แม้แต่จะเล่าให้ใครฟัง จนกระทั่งเมื่อได้พบกับ โลเวล เบิร์กแมน โปรดิวเซอร์รายการ 60 นาที ของเครือข่ายซีบีเอส ทุกอย่างก็เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อเบิร์กแมนรู้ข้อเท็จจริงจึงพยายามที่จะให้ ไมค์ วอลเลซ ได้สัมภาษณ์ไวเกนด์เพื่อออกอากาศในรายการ 60 นาที ซึ่งแม้ว่าเบิร์กแมนจะทำสำเร็จ แต่การนำออกอากาศไม่ใช่เรื่องง่าย

บราวน์แอนด์วิลเลียมสัน ซึ่งรู้ว่าได้มีการสัมภาษณ์ไวเกนด์และเตรียมจะนำออกอากาศ จึงได้พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้รายการสัมภาษณ์ ที่เป็นการเปิดเผยความลับของบริษัทนั้นได้ออกอากาศ ซึ่งในที่สุดก็ทำไม่สำเร็จ รายการ 60 นาทีที่เป็นการสัมภาษณ์ครั้งสำคัญคราวนั้นก็ได้ออกอากาศ

อย่างที่ผมบอกตอนแรกว่า หนังเรื่องนี้สะท้อนพลังอำนาจและอิทธิพลของระบบทุนนิยมได้เป็นอย่างดี ประเด็นสำคัญๆ ที่น่าสนใจที่เกี่ยวกับกลไกของระบบทุนนิยมมีอยู่มากมายในหนังเรื่องนี้ (ผมเคยเสนอให้เพื่อนผมที่อยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งสอนนักศึกษาปริญญาโทเรื่องระบบเศรษฐกิจการเมืองในประเทศกำลังพัฒนา ได้ดูหนังเรื่องนี้และน่าจะเอาหนังเรื่องนี้ไปใช้ประกอบการสอนในชั้นเรียนได้)

ประการแรก กลุ่มทุนอุตสาหกรรมบุหรี่อย่างบราวน์แอนด์วิลเลียมสัน(ในสหรัฐอเมริกาบริษัทนี้มีส่วนแบ่งในตลาดการบริโภคบุหรี่เป็นอันดับ 3 รองจากฟิลลิปมอริส และ อาร์ เจ เรย์โนลด์ โทแบคโค)ก็เหมือนกับกลุ่มทุนนิยมในระบบโลกโดยทั่วไป คือมุ่งแสวงหากำไรสูงสุดและการสะสมทุนเพื่อขยายอำนาจและอิทธิพลในการครอบงำ ทุนที่กลุ่มเหล่านี้มีอยู่นั้นมากพอที่จะดลบันดาล พอที่จะซื้ออะไรก็ได้ในโลกนี้

ตัว ดร.ไวเกนด์เองก็คือคนหนึ่งที่อยู่ในกรณีนี้ ผมมองว่า ดร.ไวเกนด์ก็คือตัวแทนของคนเก่งคนมีความรู้ความสามารถ สำเร็จการศึกษาระดับสูง มีความเชี่ยวชาญในวิชาการวิชาชีพของตนเอง คนเหล่านี้คือคนที่กลุ่มทุนอุตสาหกรรมต้องการตัวเป็นอย่างมาก การเสนอผลตอบแทนจำนวนมาก ตลอดจนสิทธิประโยชน์ต่างๆ เป็นสิ่งจูงใจให้คนเหล่านี้เข้าไปทำงานกับบริษัทเหล่านั้น เพราะฉะนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับสังคมเราทุกวันนี้ จึงไม่แปลกอะไรที่คนหนุ่มคนสาวที่มีความรู้ความสามารถ จึงแข่งขันกันที่จะเข้าไปทำงานกับกลุ่มทุนนิยมยักษ์ใหญ่เหล่านี้ เพราะสิ่งที่พวกเขาจะได้รับตอบแทนนั้น จะทำให้มีแต่ความสุขสบายไปจนตลอดชีวิต

นอกจากตัว ดร.ไวเกนด์ในฐานะที่เป็นทรัพยากรบุคคลที่ทรงคุณค่าแล้ว กลุ่มทุนอุตสาหกรรมเหล่านี้ ยังใช้ทุนของตนเองในการซื้อเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซื้อนักการเมือง ซื้อระบบราชการ ซื้อนักธุรกิจในท้องถิ่น หรือแม้แต่สื่อมวลชน เพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับตนเองให้มากที่สุด จึงไม่แปลกที่การตัดสินใจดำเนินการในเรื่องต่างๆ ของรัฐ มักเป็นการตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของธุรกิจ มากกว่าจะคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน เป็นเสมือนวงจรอุบาทว์ที่กัดกร่อนชีวิตของผู้คนและสังคมให้เสื่อมลงไปทุกวัน

นอกจากนั้นกลุ่มทุนอุตสาหกรรมเหล่านี้ยังใช้ทุนที่ตนสะสมไว้ในการสร้างภาพของความเป็นผู้ที่สนับสนุนในกิจการสาธารณะกุศล เป็นต้นว่า การให้การสนับสนุนกิจกรรมของหน่วยงานบริการทางสังคม ให้การสนับสนุนในเรื่องทุนการศึกษาหรือวัสดุอุปกรณ์ทางการศึกษา ให้การสนับสนุนในการจัดแข่งขันกีฬาสำคัญๆ ฯ ทั้งในระดับท้องถิ่น ในระดับภูมิภาค และในระดับโลกอีกด้วย

ประการที่สอง อย่างไรก็ตามแม้ว่ากลุ่มทุนนิยมจะเน้นการให้ผลประโยชน์ตอบแทนกับบุคคลและองค์กรต่างๆ แต่หากเมื่อใดก็ตามที่มีความพยายามจะทำให้กลุ่มทุนนิยมเหล่านี้เสียประโยชน์ หรือถูกเปิดโปงในการเอารัดเอาเปรียบต่อผู้บริโภคและสังคม หรือถูกชี้ให้เห็นถึงความพยายามในการสร้างฐานอำนาจในการครอบงำชีวิตผู้คนและสังคมในประเทศต่างๆ แล้ว เมื่อนั้นภาพของความเป็นผู้ที่ให้ประโยชน์ ทำแต่สาธารณะกุศลจะเปลี่ยนไปทันที เป็นผู้ที่พร้อมจะทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่จะสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมของตน ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นชีวิตคน หรือทรัพย์สิน ฯ

ใน The Insider กลุ่มทุนนิยมบราวน์แอนด์วิลเลียมสันใช้วิธีการทุกอย่างที่กล่าวมาข้างต้น ในการปกป้องธุรกิจของตนเอง ประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งก็คือ คำถามที่ว่าบราวน์แอนด์วิลเลียมสันปกป้องตัวเองจากอะไรหรือจากใครกันแน่ ในตอนแรกหนังชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่บริษัทตอบแทนให้กับไวเกนด์ เพื่อป้องกันไม่ให้ไวเกนด์เผยข้อมูลสำคัญทางการผลิตอันเป็นความลับของบริษัทให้กับคนอื่นได้รับรู้ มองโดยทั่วๆ ไปเหมือนกับเป็นการป้องกันจากไวเกนด์ แต่เมื่อหนังดำเนินต่อไป ก็ปรากฏว่าข้อมูลเหล่านั้นได้มีการเคลื่อนย้ายถ่ายเทออกไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งไปยังสื่อมวลชน ไปยังเบิร์กแมน โปรดิวเซอร์รายการ 60 นาทีของเครือข่ายซีบีเอส ซึ่งยิ่งทำให้กลุ่มทุนบราวน์แอนด์วิลเลียมสันรู้สึกถูกคุกคามมากขึ้น ถึงตรงนี้เราจึงพบว่าสิ่งที่บราวน์แอนด์วิลเลียมสันกลัวนักกลัวหนาก็คือ ความจริงที่พวกเขาพยายามจะปกปิดไว้ต่างหาก ไม่ใช่กลัว ดร.ไวเกนด์ หรือ เบิร์กแมน หรือรายการ 60 นาที หรือเครือข่ายซีบีเอสแต่อย่างใด

เพราะอย่างไวเกนด์เองก็คงไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรที่จะปิดปากไม่ให้เขาได้มีโอกาสพูด หรือเอาข้อมูลเหล่านั้นไปบอกคนอื่น เมื่อให้ผลประโยชน์ตอบแทนเต็มที่แล้วไม่เป็นผล กลุ่มทุนอย่างบราวน์แอนด์วิลเลียมสันก็สามารถใช้วิธีการคุกคามชีวิต ครอบครัว และทรัพย์สินได้ หรืออย่างกรณีของรายการ 60 นาทีของเครือข่ายซีบีเอส ก็ยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่ายังตกอยู่ภายใต้การครอบงำของบราวน์แอนด์วิลเลียมสันเช่นเดียวกัน การเข้าแทรกแซงในการทำรายการโดยผ่านทางกลไกบริหารของบริษัทนั้นยังพอทำเนา แต่หากไม่ดำเนินการตามความต้องการของบราวน์แอนด์วิลเลียมสัน ก็ถึงขั้นที่ซีบีเอสจะต้องถูกเทคโอเวอร์กิจการทั้งหมด เป็นสิ่งที่ยืนยันความเห็นข้างต้นที่ว่า กลุ่มทุนนิยมโลกเหล่านี้สามารถดลบันดาลอะไรก็ได้

ประการที่สาม ผมว่าเราในฐานะผู้บริโภคดูหนังเรื่องนี้แล้ว ต้องกลับมามองตัวเราเองและบอกกับตัวเองให้ได้ว่า แท้ที่จริงเรามีฐานะอะไร มีความหมายเพียงไรกันแน่ในระบบทุนนิยมที่ครอบงำโลกใบนี้อยู่ คำกล่าวที่ว่าลูกค้าหรือผู้บริโภคคือคนสำคัญนั้น เป็นจริงแค่ไหน หรือไม่มีความอะไรเลย เพราะสิ่งที่เราได้เห็นใน The Insider ก็คือความไม่รับผิดชอบต่อผู้บริโภคและสังคม ความเห็นแก่ประโยชน์ของบริษัท โดยไม่คำนึงถึงผลร้ายที่จะเกิดกับผู้บริโภคสินค้าของตนแต่อย่างใด เป็นความเลวบริสุทธิ์ที่กลุ่มทุนอุตสาหกรรมพวกนี้กระทำต่อผู้บริโภคของตนเองมาโดยตลอด

The Insider ชี้ให้เห็นว่าเราผู้บริโภคมีฐานะเป็นเพียงทาสหรือบริวารในระบบทุนนิยมโลกเท่านั้น เป็นทาสหรือบริวารที่ต้องพึ่งพาผู้อื่นตลอด ไม่มีอำนาจต่อรองอะไร ไม่สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวของตัวเอง กลุ่มทุนนิยมเหล่านี้ครอบงำชีวิตของเรา ครอบงำวิธีคิดของเราไปหมดแล้วแทบทั้งชีวิต ลองคิดดูสิครับ ยกตัวอย่างทุกวันนี้เวลาที่เรานึกอยากจะซื้อโทรทัศน์ บางครั้งเราเองไม่ได้นึกถึงโทรทัศน์ในฐานะที่เป็นวัตถุสิ่งของเครื่องใช้อย่างหนึ่ง แต่เรากลับนึกถึงแบรนด์เนม หรือชื่อที่ใช้ทางการค้า เช่น โซนี่ พานาโซนิก ซัมซุง ฯ สุดแท้แต่ว่าอิทธิพลในการครอบงำของบริษัทใดจะมีมากกว่า หรือเวลาที่เรากระหายเราก็จะนึกถึงโค้กหรือเป็บซี่ เป็นต้น

บริษัทบราวน์แอนด์วิลเลียมสัน ได้เคยยื่นฟ้องต่อศาลสหรัฐเพื่อขอให้รัฐนิวยอร์คยกเลิกการออกกฎหมายห้ามการจำหน่ายบุหรี่โดยการขายตรงทางการสั่งซื้อทางไปรษณีย์ ทางโทรศัพท์ และทางอินเทอร์เน็ต เนื่องจากบริษัทมีโครงการที่จะทำไดเร็คเซลกับผู้บริโภค ซึ่งในกฎหมายระบุว่าการกระทำดังกล่าวเป็นอาชญากรรม โดยทางบริษัทอ้างว่า การกระทำของรัฐนิวยอร์คเป็นการแทรกแซงทางการค้าที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

ตอนที่ผมเขียนบทความนี้อยู่ได้ลองเปิดเว็บไซต์เข้าไปที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ก็พบภาพและข้อความที่น่าสนใจ เป็นภาพของคาวบอยสองคนกำลังขี่ม้ามาด้วยกัน เข้าใจว่าคงเป็นภาพจากโฆษณาของบุหรี่ยี่ห้อหนึ่ง ข้อความด้านล่างของภาพบอกว่า “Bob, I’ve got cancer.” ขออนุญาตแปลเป็นไทยง่ายๆ ว่า “เฮ้ยบ๊อบ กูเป็นมะเร็งแล้วว่ะ” สำหรับผมค่อนข้างได้ความรู้สึกดีครับว่า มะเร็งซึ่งเป็นผลจากการสูบบุหรี่ที่เรากลัวกันนั้น หากจะมีผลกระทบต่อมนุษย์ก็แต่เฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่ หรือผู้ที่ได้รับควันพิษของบุหรี่เท่านั้น เพราะสุดท้ายเรายังเลือกได้ ที่จะไม่สูบไม่ไปอยู่ใกล้กับคนที่สูบ แต่มะเร็งที่เกิดจากระบบทุนนิยม ที่ครอบงำและทำลายวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ สร้างค่านิยมในการแสวงหากำไรแสวงหาความมั่งคั่ง ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ส่งเสริมค่านิยมในการบริโภค และก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม มาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 15 ต่างหากที่น่ากลัวกว่าหลายร้อยเท่า เพราะเราเลือกไม่ได้ เราทุกคนล้วนตกอยู่ภายใต้อำนาจและอิทธิพลของระบบอย่างยากที่จะถอนตัวออกไปได้……ผมว่าเราคงต้องทำอะไรสักอย่างกับเรื่องเหล่านี้