วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

12 Angry Men: Courtroom Drama ที่ท้าทายคนดูหนัง

การที่จะตัดสินว่าใครเป็นคนดีหรือคนไม่ดีนั้น เราอาศัยอะไรเป็นเครื่องมือหรือปัจจัยที่ใช้ประกอบการพิจารณาวินิจฉัย โดยทั่วไปในชีวิตประจำวันเราอาศัยการรับรู้ (perception) เป็นเครื่องมืออันแรกในการตัดสินบุคคล การรับรู้ของคนเราก็แบ่งออกคร่าวๆ ได้ 2 ลักษณะคือ การรับรู้ลักษณะทางกายภาพ หรือรูปร่างลักษณะภายนอกที่เราสามารถสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า และการรับรู้ลักษณะทางจิต หรือสิ่งที่อยู่ภายในของคนนั้น เช่น ความรู้สึกนึกคิด ความเชื่อ ทัศนคติ ฯ ซึ่งไม่อาจสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า แต่ต้องอาศัยพูดคุยคบหาสมาคม ต้องอาศัยเวลาในการเรียนรู้จึงพอจะตัดสินได้ว่าบุคคลนั้นมีลักษณะทางจิตใจอย่างไร

กระบวนการรับรู้ของเราไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ แต่มีพื้นฐานอยู่บนประสบการณ์ที่เราได้รับ ได้เรียนรู้และสั่งสมมาตั้งแต่เรายังเป็นเด็ก ประสบการณ์เหล่านี้เปรียบเสมือนแหล่งข้อมูลแรกที่เรานำมาใช้ในการตัดสินบุคคลหรือแม้แต่ปรากฎการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา ยกตัวอย่าง เวลาที่เราเดินไปพบคนที่แต่งกายสุภาพเรียบร้อย สะอาดสะอ้าน ดูเป็นคนที่มีบุคลิกดี เราก็มักตัดสินจากการรับรู้ของเราว่า คนนั้นคงเป็นคนที่มีจิตใจดี มีคุณธรรม คำถามมีอยู่ว่าการตัดสินเช่นนั้นถูกต้องเสมอไปหรือไม่ คำตอบก็คือไม่เสมอไป บางครั้งคนที่แต่งตัวดีมีบุคลิกน่าเลื่อมไสกลับกลายเป็นคนที่มีวาจาหยาบคาย พูดจาไม่อยู่กับร่องกับรอยก็ได้ หรือบางคนที่มีวาจาสุภาพอ่อนหวาน แต่ปรากฎว่าจิตใจข้างในกลับเป็นคนที่เห็นแก่ตัว คิดทำร้ายและเอาเปรียบคนอื่นอยู่เสมอก็ได้เช่นกัน ลักษณะรูปร่างหน้าตาภายนอกใช้เป็นเครื่องตัดสินนิสัยใจคอของคนไม่ได้ เพราะฉะนั้นการที่เราจะตัดสินบุคคลจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับการรับรู้แต่เพียงรูปร่างภายนอก แต่ต้องอาศัยการรับรู้ลักษณะทางจิตที่อยู่ภายในคนคนนั้น การตัดสินบุคคลจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่เรามีอยู่เกี่ยวบุคคลในลักษณะเช่นนั้น แต่ขึ้นอยู่กับลักษณะที่แท้จริงที่คนคนนั้นเป็นอยู่ และการตัดสินบุคคลจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณค่าที่เราให้กับใครคนใดคนหนึ่ง แต่ขึ้นอยู่กับคุณค่าที่แท้จริงที่ดำรงอยู่ในคนคนนั้นต่างหาก

ผมพูดเรื่องนี้ก็เพราะว่าผมได้ดูหนังเรื่องหนึ่งชื่อเรื่องว่า “12 Angry Men” กำกับโดยวิลเลียม ฟรีดกิ้น ออกฉายครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1997 หนังเรื่องนี้นำแสดงโดยดาราที่มีชื่อเสียงหลายต่อหลายคน อาทิ แจ็ค เลมมอน ยอร์ช ซี สก๊อต คอร์ทนีย์ แวนซ์ ฯ ความจริงแล้วหนังเรื่องนี้ไม่ใช่เวอร์ชั่นแรก 12 Angry Men ฉบับแรกนั้นเป็นหนังที่ออกฉายเมื่อปี ค.ศ.1957 กำกับการแสดงโดยซิดนีย์ ลูเม็ต นำแสดงโดย เฮนรี่ ฟอนด้า ลี เจ ค๊อบบ์ แจ็ค วอร์เดน มาร์ติน บัลซั่ม ฯ ผมเองไม่ได้ดูฉบับแรกหรือเวอร์ชั่นแรก มาได้ดูในเวอร์ชั่นหลัง พอได้ดูก็ชอบตั้งแต่แรกเลยทีเดียวครับ

เรื่องโดยคร่าวๆ ก็มีอยู่ว่า เด็กหนุ่มคนหนึ่งถูกกล่าวหาว่าฆ่าพ่อตัวเอง คดีเข้าสู่การพิจารณาของศาล โดยมีคณะลูกขุน 12 คนที่จะต้องตัดสินว่าเด็กคนนั้นผิดหรือไม่ผิด หลังจากที่ได้รับฟังการไต่สวนพยานทั้งจากฝ่ายโจทย์และฝ่ายจำเลยแล้ว (ในหนังไม่ได้แสดงให้เห็นเหตุการณ์ในช่วงของการไต่สวน) โดยเหตุการณ์ที่เป็นส่วนสำคัญของหนังทั้งหมดเกิดขึ้นอยู่ภายในห้องห้องเดียวที่คณะลูกขุนทั้ง 12 คนใช้เป็นที่ที่พิจารณาหาคำตัดสินเพื่อเสนอต่อศาล ทั้งหมดมีอยู่แค่นี้เองครับ แต่ถึงแม้ว่าเนื้อเรื่องจะมีอยู่เท่านั้น ผมก็ยังเห็นว่าหนังเรื่องนี้น่าสนใจมาก เหตุผลของผมก็มีอยู่ว่า

ประการแรก หนังทั้งเรื่องดำเนินอยู่ภายในห้องห้องเดียว (ความจริงแล้วก็ไม่เชิงว่าจะอยู่ในห้องเดียวทั้งหมดหรอกนะครับ เพราะห้องนี้ยังมีห้องน้ำเล็กๆ อยู่อีกห้องหนึ่ง บางฉากของหนังก็เกิดขึ้นในห้องน้ำด้วยครับ แต่อย่างไรก็ตามเนื้อเรื่องหลักของหนังยังคงอยู่ในห้องเดียวเท่านั้น แต่ห้องน้ำนี้มีความหมายนะครับ ไว้ผมจะกล่าวถึงต่อไป) ซึ่งผมถือว่าค่อนข้างท้าทายคนดูมากๆ หนังเรื่องนี้ถูกจัดอยู่ในประเภทคอร์ทรูม ดรามา (courtroom drama) ซึ่งถ้าใครที่ไม่ชอบหนังแบบนี้แล้วละก็ อาจบอกว่าหนังค่อนข้างน่าเบื่อไปเลยก็ได้ อาจจะจริงครับเพราะคอร์ทรูม ดรามา ที่เราคุ้นเคยกันนั้นมักจะเป็นหนังที่แสดงให้เห็นการต่อสู้กันในศาลระหว่างฝ่ายโจทย์กับฝ่ายจำเลย ได้เห็นการไต่สวน การสืบพยาน การแสดงหลักฐาน ต่างๆ นานา จนไปถึงการตัดสินอันเป็นข้อสรุป แต่ใน 12 Angry Men เราไม่ได้เห็นเหตุการณ์แบบนั้นครับ เราไม่ได้เห็นบทบาทของอัยการโจทย์ เราไม่ได้เห็นบทบาทของทนายจำเลย เราไม่ได้เห็นบทบาทของผู้พิพากษา แต่เรากลับเห็นคณะลูกขุนที่มานั่งรวมกันอยู่ในห้องเล็กๆ ห้องหนึ่ง ท่ามกลางอากาศภายนอกที่ร้อนอบอ้าว เพื่อร่วมกันพิจารณาลงความเห็นว่าจำเลยผิดจริงตามข้อกล่าวหาหรือไม่ และที่สำคัญหนังประเภทนี้มีแต่บทสนทนา คือพูดกันทั้งเรื่อง เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่กล้าและสามารถที่จะทำหนังทั้งเรื่องให้ดำเนินอยู่ในห้องห้องเดียวได้ โดยที่ตรึงเราไว้กับที่นั่งได้ตลอดเวลา ก็คุ้มค่าพอที่เราจะนั่งดูไปจนจบไม่ใช่หรือครับ

ประการที่สอง หนังเรื่องนี้มีตัวละครหลักอยู่ 12 คน ซึ่งแต่ละคนก็จะมีคาแรคเตอร์ต่างกัน มีพื้นฐานทางสังคมต่างกัน ประสบการณ์ต่างกัน อุปนิสัยใจคอต่างกัน ดังนั้นการจะทำให้ผู้ชมเข้าใจพื้นฐานของตัวละครแต่ละคนจึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย ในฉากแรกที่ทั้งสิบสองคนเดินลงไปในห้องประชุมด้านล่าง เป็นฉากที่ปูพื้นให้เห็นถึงลักษณะของแต่ละคนตั้งแต่แรก ซึ่งผมเห็นว่าวิลเลียม ฟรีดกิ้น ทำได้ค่อนข้างดีทีเดียว (อย่างว่าละครับให้เครดิตกับผู้กำกับคนเดียวไม่ได้หรอก ต้องยกความดีให้กับคนเขียนบทด้วยครับที่เขียนได้ดีทีเดียว) ฉากแรกของหนังนี่สำคัญจริงๆ นะครับ หนังจะชวนติดตามหรือไม่ ฉากแรกของหนังมีส่วนช่วยได้มาก
นานมาแล้วครับที่มหาวิทยาลัยที่ผมทำงานอยู่ มีโปรเฟสเซอร์ชาวอเมริกันคนหนึ่ง ที่สอนเกี่ยวกับภาพยนตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาวาย เดินทางมาที่มหาวิทยาลัย มาบรรยายเกี่ยวกับเรื่องของหนังนี่แหละครับ ผมจำชื่อแกไม่ได้ แต่แกเคยเอาหนังที่แกใช้สอนที่มหาวิทยาลัย มาฉายให้พวกเราดูสองเรื่อง เรื่องแรกคือเรื่อง Biloxi Blues อีกเรื่องก็คือ The Godfather Part I ของฟรานซิส ฟอร์ด คอบโพล่า แกบอกว่าเรื่องหลังนี้เป็นตัวอย่างที่คลาสสิกของฉากเปิดเรื่องที่ถือว่าสมบูรณ์แบบมาก

ถ้าใครที่เคยดู The Godfather แล้วคงจำได้นะครับว่าหนังเรื่องนี้ตัวละครสำคัญๆ มีมาก ดังนั้นจึงค่อนข้างยากที่จะปูพื้นให้คนดูเข้าใจถึงบุคลิกลักษณะและนิสัยใจคอของตัวละครทุกตัวได้ตั้งแต่แรก แต่คอปโพล่าทำได้ โดยอาศัยฉากงานเลี้ยงในบ้านของ ดอนวีโต้ คอร์ลีโอเน่ ที่จัดขึ้นเพื่อรับการกลับมาของไมเคิล คอร์ลีโอเน่ ลูกชายคนสุดท้องของตระกูลที่ไปเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นฉากเปิดเรื่อง ซึ่งทำให้เราได้รู้จักตัวละครทุกตัวได้ภายในฉากเดียว ในความเห็นของผมค่อนข้างเห็นด้วยกับแกครับ (ไม่ทราบว่าท่านเห็นด้วยกับโปรเฟสเซอร์คนนั้นหรือไม่ ถ้าไม่แน่ใจลองกลับไปดูหนังเรื่องนี้ใหม่สิครับ)

ประการที่สาม ซึ่งเป็นประการสำคัญก็คือ หนังเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงวิธีการที่มนุษย์เราใช้ในการตัดสินคุณค่าของบุคคลในสังคมได้เป็นอย่างดี อย่างที่ผมกล่าวไว้ตั้งแต่แรกว่า คนเราใช้กระบวนการรับรู้เป็นเครื่องมืออันแรกที่ใช้ตัดสิน โดยอาศัยประสบการณ์ที่มีอยู่เป็นพื้นฐาน ซึ่งบางครั้งอาจจะผิดได้ สิ่งที่หนังเรื่องนี้บอกกับเราก็คือ เราในฐานะที่เป็นมนุษย์ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษกว่าสัตว์อื่นตรงที่สามารถคิดอย่างมีเหตุผลได้นั้น กลับไม่ได้พยายามใช้เหตุผลและการแสวงหาข้อเท็จจริงเข้ามาช่วยในการตัดสินใจของเราเลย

การที่เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในห้องห้องเดียว ที่คณะลูกขุนทั้งสิบสองคนเข้าไปแล้วจะออกมาไม่ได้จนกว่าจะได้คำตัดสิน อากาศภายนอกก็ร้อนอบอ้าว และแต่ละคนก็อยากจะลงมติเสียให้เสร็จๆ ไปจะได้กลับบ้านกลับช่องเสียที เป็นสภาพที่ก่อให้เกิดเป็นความเครียดขึ้นได้ไม่ยาก และจริงๆ แล้วผู้กำกับก็ต้องการเช่นนั้น ความเครียดของตัวละครแต่ละคนค่อยๆ เพิ่มขึ้นๆ เป็นลำดับ ทำนองเดียวกันกับผู้ชมก็เกิดเป็นความรู้สึกอึดอัดไม่แพ้กับตัวละครในหนังสักเท่าไร

อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าลูกขุนทั้งสิบสองคน ซึ่งจะออกมาข้างนอกไม่ได้ จะไม่มีช่องทางผ่อนคลายความเครียดหรือความรู้สึกอึดอัดเสียทีเดียว หน้าต่างเล็กๆ ที่อยู่บนผนังสองบานเป็นช่องทางหนึ่งที่ใช้ผ่อนคลายได้ อีกทางหนึ่งก็คือห้องน้ำ ที่แต่ละคนเข้าไปใช้ล้างหน้าล้างตา ทำธุระต่างๆ ก็ถือได้ว่าคือช่องทางที่ตัวละครอาศัยเป็นที่ระบายความเครียดได้ อันที่จริงไม่เฉพาะแต่ตัวละครเท่านั้น ผมคิดว่าทั้งหน้าต่างและห้องน้ำเปรียบได้กับช่องทางระบายความอึดอัดในการติดตามดูหนังเรื่องนี้ ที่ทั้งผู้กำกับและคนเขียนบทเจตนาที่จะทำไว้ให้กับคนดูด้วย

อันที่จริงก่อนที่ลูกขุนทั้ง 12 คนจะลงมาประชุมในห้องนั้น ผู้พิพากษาได้บอกกับคณะลูกขุนไว้ว่า สิ่งที่พวกเขาจะต้องดำเนินการก็คือ แยกแยะความจริงออกจากการให้การของพยานต่างๆ โดยให้ใช้เหตุผล คำนึงถึงความเป็นธรรม และความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่เป็นสำคัญ แต่เมื่อลงมาข้างล่าง แทนที่จะมีการอภิปรายเกี่ยวกับข้อมูลที่ได้จากคำให้การของพยาน ส่วนใหญ่กลับต้องการให้มีการลงมติทันทีว่าเด็กคนนั้นผิดจริงหรือไม่ การตัดสินตรงนี้ต้องไม่มีข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น หากมีข้อสงสัยไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ผู้พิพากษาได้กล่าวไว้ตอนต้นแล้วว่า ขอให้ตัดสินว่าเด็กคนนั้นไม่มีความผิด ดังนั้นความเห็นของลูกขุนต้องเป็นเอกฉันท์ ต้องเห็นพ้องต้องกันโดยไม่มีข้อสงสัยใดๆ ว่าเด็กคนนั้นผิดจริง แต่กลับมีการเสนอให้ลงมติทันที ซึ่งปรากฎว่าในจำนวนลูกขุนทั้ง 12 คน มีผู้ที่เห็นว่าเด็กหนุ่มมีความผิดฐานฆ่าพ่อตัวเองจริง 11 คน และเห็นว่าไม่มีความผิด 1 คน

ผลการลงมติในครั้งแรกเป็นสิ่งที่ชี้ให้เราเห็นได้เป็นอย่างดีว่า มนุษย์เราใช้การรับรู้ที่มีพื้นฐานบนประสบการณ์ที่ตัวเองมีอยู่ ในการตัดสินบุคคลและเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิตเป็นประจำ เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะง่ายดี เร็วดี และเหมาะสมดีแล้วนั่นเอง โดยที่เราไม่เคยคิดต่อไปว่าผลที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการตัดสินของเรานั้นจะเป็นอย่างไร ยิ่งผลที่จะเกิดตามมาไม่เกี่ยวกับหรือไม่มีผลใดต่อเรามากเท่าไร เราก็ยิ่งไม่คำนึงถึงเหตุผล ความยุติธรรม และความถูกต้องมากเท่านั้น

การตัดสินบุคคลโดยอาศัยเพียงการรับรู้และประสบการณ์ทำให้เรามองคนผิดมานักต่อนัก เราได้เห็นคนที่ปากกับใจไม่ตรงกัน เราได้เห็นคนบาปในคราบนักบุญ เราได้เห็นคนที่สัญญาอะไรต่ออะไรไว้กับประชาชนแต่ไม่เคยทำอย่างที่พูดไว้สักอย่างเดียว เราเชื่อว่าคนที่เอาข้าวเอาของเอาเงินมาแจกเราน่าจะเป็นคนดีทำประโยชน์ให้เราได้ แต่สุดท้ายก็คอรับชั่นแล้วเอาเงินเหล่านั้นนั่นแหละมาแจกเราอีกทีหนึ่ง เราเชื่อว่าคนที่มีการศึกษาสูงมีความรู้ความสามารถจะช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ในบ้านเมืองได้ เอาเข้าจริงกลับล้มเหลวไม่เคยแก้ไขอะไรได้ เพราะสิ่งที่พวกเขาคำนึงถึงไม่ใช่ผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม แต่เป็นเพียงผลประโยชน์ของกลุ่มพวกพ้องตนเองมากกว่า

ด้วยเหตุที่เราตัดสินคนกันด้วยการรับรู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับรู้จากปัจจัยภายนอก จึงทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่คำนึงถึงและให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ (image) เป็นอันดับแรก คนในสังคมต่างพยายามสร้างภาพของตัวเองให้ดูดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ เพื่อปกปิดตัวตนที่แท้จริงเอาไว้ กระบวนการสร้างภาพลักษณ์มีอยู่ทุกวงการครับ ไม่ว่าจะเป็นวงการการเมือง วงการธุรกิจ วงราชการ ฯ ไม่เว้นแม้แต่วงการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ผมอยู่ และด้วยเหตุที่เราคำนึงกันแต่ภาพลักษณ์ ไม่ได้ให้ความสำคัญและไม่ใส่ใจกับความจริง ความถูกต้อง และความยุติธรรม สังคมไทยจึงเป็นสังคมที่อ่อนแอ เป็นสังคมที่จำแนกแยกแยะความดีกับความเลวไม่ได้ เป็นสังคมที่ไม่อาจสร้างความยุติธรรมที่แท้จริงให้เกิดขึ้นได้ เป็นสังคมที่มีแต่ภาพมายาบดบังภาพที่แท้จริงเอาไว้จนใครก็มองไม่เห็น

ผมไม่เล่าต่อครับว่าหนังจบอย่างไร ผมอยากให้ท่านลองหามาดู บางทีท่านอาจจะเชื่ออย่างที่ผมเชื่อก็ได้ว่าประสบการณ์และการรับรู้ของคนในสังคม กลับกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนในสังคมต่างเอาตัวรอด ไม่คิดและไม่สนใจที่จะแสวงหาและทำความจริงให้ปรากฏ

3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ11/4/56

    สงกรานต์นี้ไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี เลยท่องเวปมาดูบล็อกของอาจารย์เล่นๆอ่านแล้วก็เพลินดี ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบดูหนัง แต่ก็ไม่ค่อยคิดอะไรมากเกี่ยวกับหนัง มองว่าเป็นความเพลิดเพลินมากกว่า แต่สิ่งที่อาจารย์ได้เขียนมากทำให้เห็นว่าหนังมีอะไรมากกว่าความเพลิดเพลิน หนังเรื่องนี้ผมเคยดูผ่านตามานานแล้ว สนุกดีครับตัวละคร ๑๒ คน เถียงกับเกี่ยวกับความผิดของเด็กคนหนึ่ง ผมก็ไม่รู้ว่าเด็กคนนี้ผิดจริงหรือไม่ผิด แต่กฎหมายก็จะยกประโยชน์ให้หากมีข้อสงสัยว่าเด็กคนนี้อาจไม่กระทำผิด ชีวิตของเด็กคนนี้จึงขึ้นอยู่กับความเห็นและคำตัดสินของลูกขุน ๑๒ คน การตัดสินที่รับฟังมากจากการรับรู้ของพยาน และสังเคราะห์ผ่านม่านอคติของตนเอง ทำให้เห็นถึงความเปราะบางของกระบวนการยุติธรรมได้ดีครับ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ11/4/56

    สิ่งที่ผมจับประเด็นการวิเคราะห์ของอาจารย์ได้ คือ “การรับรู้” และ“การสร้างภาพลักษณ์” ของมนุษย์ ทำให้เห็นว่ามนุษย์เป็นสิ่งที่เข้าใจยากที่สุด คนเรามีการรับรู้ที่แตกต่างกับขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน สิ่งที่เป็นปรากฏการณ์เดียวกันเหตุการณ์เดียวกัน มนุษย์สามารถตีความและเข้าใจสิ่งเหล่านั้นต่างกันบางคนอาจตีความไปในทางบวก บางคนอาจตีความไปในทางลบ อย่างเช่นคำพูดบางคำบางประโยคที่บุคคลได้พูดออกไปบางคนอาจฟังเป็นเรื่องล้อเล่น บางคนอาจฟังเป็นเรื่องจริงจัง บางคนอาจฟังว่าเป็นเรื่องที่เขาว่ากล่าวเรา ผมจึงเข้าใจได้ว่าบางทีความสุขในชีวิตนี้ขึ้นอยู่กับการตีความการรับรู้ของเรา คำถามคือในชีวิตจริงของเรา เราควรมีวิธีการจัดการกับการรับรู้ของเราอย่างไร ทำอย่างไรให้เราสามารถรับรู้สิ่งต่างๆได้ในทางบวกแล้วทำความเรามีความสุข
    เรื่อง “การสร้างภาพลักษณ์”มนุษย์เราต่างก็มีภาพลักษณ์เป็นของตนเอง มนุษย์เราต้องพึงพาภาพลักษณ์เป็นแนวทางการดำเนินชีวิต แต่เราต้องเหน็ดเหนื่อยกับการที่ต้องทำตนให้อยู่ในร่องในรอยของภาพลักษณ์ที่ตนสร้างขึ้น มันคงจะดีถ้าเราไร้ภาพลักษณ์ ทำอย่างไรให้เราไร้ภาพลักษณ์ และชีวิตที่ไร้ภาพลักษณ์จะเป็นอย่างไร ในความคิดของผม การสร้างภาพลักษณ์เป็นการสร้างอัตตาและตัวตน ยิ่งเมื่อคนเรามีประสบการณ์มากขึ้นภาพลักษณ์หรืออัตตาก็ยิ่งมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น และยากที่จะสลัดหลุดได้ การบรรลุคือการสลัดทิ้งแล้วซึ่งภาพลักษณ์ที่ตนมี แต่เราจะสามารถบรรลุโดยวีการใด

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ11/4/56

    เมื่อพูดถึงหนังเรื่อง เดอะก๊อดฟาเธอร์ ผมดูมาแล้วหลายครั้งครับ ดูครั้งแรกก็ไม่เข้าใจเพราะตัวละครเยอะมาก เลยมาอ่านหนังสือที่คุณธนิต ธรรมสุคติ แปล หนามากแต่ก็พยายามอ่านจนจบ จึงพอเข้าใจเนื้อเรื่องมากขึ้น หนังเรื่องนี้ประทับใจหลายฉากหลายตอน หลายคำพูด หลายประโยคครับ ในความเห็นผมเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนปัญหาความอ่อนแอของหน่วยงานรัฐ การได้รับมอบความเป็นธรรมและการเข้าถึงความเป็นธรรมของประชาชน ชาวบ้านตาดำๆจึงต้องพึ่งพาอำนาจนอกระบบที่สถาปนาตนเองขึ้นมาอยู่เหนืออำนาจรัฐ

    ตอบลบ