วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ชีวิต ครอบครัว และความงามใน American Beauty

ตอนที่หนังเรื่อง American Beauty เข้ามาฉายในเมืองไทยผมไม่มีโอกาสได้ดู เนื่องจากติดธุระโน่นธุระนี่ไปตามเรื่อง พอนึกตั้งใจจะไปดูปรากฎว่าหนังออกไปแล้ว ก็ได้แต่ติดตามภายหลังว่าหนังประสบความสำเร็จมากทั้งในด้านรายได้และรางวัล โดยได้ออสการ์ถึง 5 ตัวจากผู้แสดงนำฝ่ายชายยอดเยี่ยม ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม ถ่ายภาพยอดเยี่ยม และที่สำคัญคือเป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี นอกจากนั้นก็ยังได้รับรางวัลต่างๆ อีกมากมายจากสถาบันต่างๆ หลายแห่ง หนังเรื่องนี้กำกับโดย แซม เมนเดส นำแสดงโดย เควิน สเปซี่, แอนเน็ต เบนนิ่ง, ธอร่า เบิร์ช, เวส เบนท์เล่ย์, และมีนา ซูวารี ฯลฯ เขียนบทโดย อลัน บอล นักวิจารณ์ต่างให้คำชมกับหนังเรื่องนี้มาก ผมลองเปิดเข้าไปดูในเว็บไซต์ต่างๆ ที่เปิดให้มีการโหวต ก็พบว่าหนังเรื่องนี้ได้รับการโหวตเป็นหนังระดับห้าดาวทุกเว็บไซต์ และยิ่งอ่านจากบทความต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวิจารณ์หนังก็ยิ่งทำให้อยากดูหนังเรื่องนี้มากยิ่งขึ้นไปอีก

พอได้ดีวีดีมาดูผมก็รู้สึกว่า American Beauty เป็นหนังที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่สำคัญของการดำเนินชีวิตในครอบครัวได้เป็นอย่างดี ไม่แต่เฉพาะครอบครัวอเมริกัน ผมว่าสิ่งที่หนังสะท้อนนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในครอบครัวในแทบทุกวัฒนธรรมรวมทั้งสังคมไทยของเรา ชื่อหนังแปลได้ว่าความงามแบบอเมริกัน ผมจึงเกิดความสงสัยแต่แรกว่าอะไรคือความงามแบบอเมริกัน ความงามแบบอเมริกันหมายถึงอะไร ดูไปจนจบเรื่องถึงได้คำตอบกับตัวเองว่า อ้อนี่เองความงามแบบอเมริกัน ไว้ตอนท้ายผมจะเฉลยไม่รู้ว่าจะตรงกับคำตอบของผู้อ่านหรือเปล่า ตอนนี้มาลองดูกันว่าหนังเรื่องนี้มีมิติในทางสังคมวิทยาที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง

ประเด็นทางด้านสังคมวิทยาที่หนังสะท้อนออกมาได้ชัดก็คือเรื่องของสถาบันครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการขัดเกลาทางสังคม (socialization) ในทางสังคมวิทยาถือว่าครอบครัวเป็นสถาบันสังคมที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนอกจากจะเป็นสถาบันสังคมแห่งแรกของมนุษย์แล้ว ยังเป็นสถาบันสังคมที่มีบทบาทสำคัญในการอบรมให้สมาชิกได้เรียนรู้ระเบียบสังคม และได้รับการถ่ายทอดวัฒนธรรมโดยผ่านทางกระบวนการสำคัญที่เรียกว่ากระบวนการขัดเกลาทางสังคม กระบวนการดังกล่าวมีเป้าหมายสำคัญในการหล่อหลอมบุคลิกภาพของบุคคลให้เป็นไปตามที่สังคมต้องการ สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข อย่างไรก็ตามสถาบันสังคมที่ทำหน้าที่ในการอบรมให้เรียนรู้ระเบียบของสังคม หรือการขัดเกลาทางสังคมนั้นไม่ได้มีแต่เพียงครอบครัวเท่านั้น ยังมีกลุ่มเพื่อน โรงเรียน กลุ่มอาชีพ หรือแม้แต่สื่อมวลชน ที่ทำหน้าที่ในการขัดเกลาทางสังคมด้วย แต่ด้วยความที่ครอบครัวเป็นสถาบันสังคมแห่งแรกของมนุษย์ ประกอบกับการอบรมให้บุคคลได้เรียนรู้ระเบียบแบบแผนของสังคมในช่วงวัยเยาว์มีความสำคัญ ดังนั้นจึงถือได้ว่าครอบครัวนี่เองที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในสังคม

โดยปกติครอบครัวจะประกอบไปด้วย พ่อ แม่ ลูก และอาจจะมีเครือญาติอื่นอยู่ร่วมด้วยก็ได้ ดังนั้นในครอบครัวจึงประกอบไปด้วยแบบแผนความสัมพันธ์ในหลายลักษณะ เช่น แบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างสามีกับภรรยา แบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูก/แม่กับลูก แบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างพี่กับน้อง ตลอดจนแบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างปู่ย่า/ตายาย ลุงป้าน้าอา กับลูกหลาน ฯ แบบแผนความสัมพันธ์เหล่านี้เองที่มีผลต่อการอบรมขัดเกลาทางสังคมที่กล่าวถึงข้างต้น หากแบบแผนความสัมพันธ์เหล่านี้เป็นไปด้วยดี กระบวนการขัดเกลาทางสังคมก็สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ซึ่งช่วยให้เรามั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าสมาชิกในครอบครัวนั้นย่อมจะต้องมีบุคลิกภาพที่ดี ได้เรียนรู้ระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ของสังคม สามารถมีชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข แต่ถ้าแบบแผนความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่ดีมีปัญหา การขัดเกลาทางสังคมก็ย่อมเกิดปัญหาตามไปด้วย ซึ่งจะเป็นผลทำให้สมาชิกในครอบครัวนั้นเป็นบุคคลที่มีปัญหาทั้งในด้านบุคลิกภาพ และพฤติกรรมในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม เราจะเห็นได้ว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติด ปัญหาความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม ปัญหาอาชญากรรม ฯลฯ หากลองสืบสาวลงไปถึงที่มาหรือจุดเริ่มต้นของปัญหาเหล่านั้น ก็จะพบว่าทั้งหมดล้วนแล้วแต่มาจากครอบครัว มาจากพื้นฐานการได้รับขัดเกลาทางสังคมทั้งสิ้น

คำถามก็คือว่าแล้วการอบรมขัดเกลาทางสังคมที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร ยกตัวอย่างกรณีแบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก ก็คือว่าพ่อแม่ควรเข้าใจความต้องการของลูก ให้ความสนใจต่อปัญหาของลูกไม่ว่าจะเป็นปัญหาอะไรก็ตาม ให้ความรักความอบอุ่นแก่ลูกอย่างเพียงพอ ต้องทำให้ลูกตระหนักได้ว่าเขาสามารถพึ่งพาพ่อแม่ได้อย่างแท้จริง พ่อแม่ต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในครอบครัว ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูก เปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความคิดเห็น ปลูกฝังให้ลูกรู้จักหน้าที่และความรับผิดชอบ เป็นต้น

ในหนังเราจะเห็นได้ว่ามีครอบครัวที่เป็นหลักในการดำเนินเรื่องอยู่ 2 ครอบครัว นั่นก็คือครอบครัวของ เลสเตอร์ เบอร์นัม (แสดงโดย เควิน สเปซี่) กับครอบครัวของผู้พันฟิทซ์ (ซึ่งแสดงโดย คริส คูเปอร์) เลสเตอร์แต่งงานอยู่กินกับแคโรไลน์ (แสดงโดย แอนเน็ต เบนนิ่ง) มากว่า 20 ปี มีลูกด้วยกันหนึ่งคนคือ เจน (แสดงโดย ธอร่า เบิร์ช) ในหนังชี้ให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างเลสเตอร์กับแคโรไลน์นั้นมีปัญหา ตัวเลสเตอร์กำลังตกอยู่ในช่วงวิกฤติของชีวิตคือเริ่มรู้สึกเบื่อทุกสิ่งทุกอย่าง รู้สึกเย็นชากับสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัว งานและครอบครัวไม่มีความหมายใดๆ กับชีวิตอีกต่อไป คำพูดของแองเจล่า (แสดงโดย มีนา ซูวารี) เพื่อนของเจนที่พูดถึงเลสเตอร์ช่วยให้คนดูเข้าใจสถานการณ์ระหว่างเลสเตอร์กับแคโรไลน์ได้ดี คือจากสายตาที่เลสเตอร์มองแองเจล่า ทำให้แองเจล่าบอกกับเจนทันทีว่าเลสเตอร์กับแคโรไลน์นั้นไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางเพศด้วยกันมาตั้งนานแล้ว ฉากรับประทานอาหารในบ้านที่เลสเตอร์นั่งอยู่ด้านหนึ่ง แคโรไลน์นั่งอยู่อีกด้านหนึ่งตรงข้ามกันนั้นบอกถึงระยะทางสังคม (social distance) ระหว่างคนสองคนที่นับวันจะยิ่งห่างกันออกไปได้เป็นอย่างดี พฤติกรรมการแสดงออกของแคโรไลน์ที่มักจะคอยบงการสามีให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ก่อให้เกิดความเบื่อหน่ายกับเลสเตอร์อย่างเห็นได้ชัด ตัวแคโรไลน์เองให้ความสำคัญอย่างมากกับธุรกิจที่เธอทำอยู่และความสำเร็จทางวัตถุในชีวิต เธอพยายามทำทุกอย่างเพื่อไปให้ถึงจุดนั้น เธอพยายามแสดงให้คนอื่นเห็นว่าตัวเธอสามารถที่จะควบคุมสิ่งต่างๆ ในชีวิตของเธอได้เป็นอย่างดี แต่แท้ที่จริงชีวิตเธอว่างเปล่า ความสัมพันธ์หวานชื่นที่เธอเคยมีกับเลสเตอร์มันหายไปนานแล้ว จนเมื่อเธอพบกับบัดดี้ (แสดงโดย ปีเตอร์ กัลลาเกอร์) เธอก็พยายามคว้าไว้โดยหวังว่ามันจะช่วยทดแทนสิ่งที่เธอทำหายไปได้ โดยส่วนลึกแล้วแคโรไลน์เป็นคนที่สิ้นหวังกับชีวิต ความคับแค้นสิ้นหวังในตัวเธอทั้งหมดระเบิดออกเมื่อเลสเตอร์พบว่าเธอไปมีความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาวกับบัดดี้ ฉากที่เธอออกจากรถเดินร้องไห้เข้ามาในบ้านเป็นฉากที่ทำให้เราเข้าใจความรู้สึกในส่วนลึกของเธอได้ดี

ตัวเลสเตอร์เองนั้นอย่างที่บอกแล้วว่าอยู่ในช่วงวิกฤติของชีวิต ในภาษาอังกฤษเรียกว่า mid-life-crisis ซึ่งมักจะเกิดกับคนที่อยู่ในช่วงอายุประมาณ 40-50 ปี คือเริ่มรู้สึกว่าตัวเองหาความหมายอะไรในชีวิตไม่ได้อีกต่อไป เหนื่อยหน่ายกับชีวิต ไม่รู้ว่าตัวเองจะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร ความสัมพันธ์กับภรรยาก็มีแต่จะแย่ลง การงานก็มีปัญหา ลูกก็ดูเหมือนเป็นคนแปลกหน้า ไม่ค่อยได้มีโอกาสพูดคุยกันสักเท่าไร นับวันก็ยิ่งห่างเหินกันมากยิ่งขึ้น พฤติกรรมที่เลสเตอร์แสดงออกนั้นชี้ให้เห็นถึงอาการที่เริ่มต่อต้านสังคม เขาไม่สนใจว่าจะต้องรักษาหน้าตาของภรรยาตนเองต่อหน้าคนอื่นแต่อย่างใด เขาไม่สนใจว่าจะต้องออกจากงาน โดยกลับต้องไปทำงานเป็นพนักงานบริการในร้านฟ้าสต์ฟู้ด เขาไม่จำเป็นต้องทนกับภรรยา กับลูก รวมทั้งกับเจ้านายในที่ทำงานอีกต่อไป พฤติกรรมแสดงออกยามที่เขาจับได้ว่าภรรยามีชู้ ชี้ให้เห็นได้ดีถึงอาการชิงชังกับชีวิตสมรส เขาเพียงแต่กำลังค้นหาคำตอบว่าชีวิตต่อไปของเขานั้นจะเป็นอย่างไร เขาได้มาพบกับริกกี้ (ลูกของผู้พันฟิทซ์) ที่ช่วยให้เขามีความกล้ามากขึ้นที่จะหาทางออกในเรื่องการงาน และได้มาพบกับแองเจล่า ซึ่งทำให้เขามีความรู้สึกว่าดูเหมือนเขากำลังพบกับคำตอบที่ตัวเองกำลังมองหาอยู่ แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ไม่ใช่

ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับเลสเตอร์และแคโรไลน์กลับกลายเป็นสิ่งที่เจนต้องเผชิญและแบกรับ ใครที่ดูหนังเรื่องนี้แล้วคงจำฉากรับประทานอาหารในครอบครัวเบอร์นัมได้ดีว่าวิกฤติทั้งหลายที่สั่งสมมาในครอบครัวนี้รวมมาลงที่ตัวเจนคนเดียว ผู้กำกับนำเสนอฉากนี้หลายครั้งก็เพื่อที่จะยืนยันว่าคนที่ต้องรับกรรมที่พ่อแม่ร่วมกันสร้างก็คือลูกนั่นเอง โต๊ะอาหารตัวยาวที่มีพ่อนั่งอยู่ปลายด้านหนึ่ง แม่นั่งอยู่ที่ปลายอีกด้านหนึ่ง โดยมีเจนนั่งอยู่ตรงกลาง เป็นภาพที่แสดงถึงความเหินห่างของสมาชิกในครอบครัว แสดงถึงการเผชิญหน้าและความขัดแย้งระหว่างพ่อกับแม่ที่มีลูกอยู่ตรงกลาง เป็นภาพที่แสดงถึงความคับข้องใจของเจนที่ต้องทนมีชีวิตอยู่ในครอบครัวของเธอเองได้เป็นอย่างดี ทุกครั้งที่ทั้งพ่อและแม่พยายามที่จะพูดจากันดีๆ ก็ไม่เคยสำเร็จสักครั้ง ทุกครั้งต้องลงเอยด้วยการทะเลาะมีปากเสียงกันเสมอ แคโรไลน์นั้นพยายามที่จะแสดงให้เห็นว่าเธอนั้นยังแคร์ความรู้สึกของเจน จึงชวนให้เลสเตอร์ไปชมการแสดงของเธอที่โรงเรียน แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ความสัมพันธ์ของพ่อแม่ลูกดีขึ้นสักเท่าไร เพราะทั้งพ่อและแม่ไม่ได้ตั้งใจจริงที่ไปดูลูกแสดง กลับเป็นเรื่องที่เสียไม่ได้มากกว่า ครอบครัวแบบนี้แม้ว่าลูกจะเป็นศูนย์กลางของครอบครัวก็ตาม (ดูจากฉากที่โต๊ะอาหาร) แต่ความเป็นศูนย์กลางของเจนไม่ใช่ศูนย์กลางของความรักความอบอุ่นจากพ่อและแม่ กลับกลายเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งระหว่างพ่อกับแม่ ที่ต่างฝ่ายต่างก็โยนทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความไม่พอใจ ความห่างเหิน ความเครียด ฯ ลงมาที่ลูกอย่างที่เห็น แต่ไม่เคยโยนความรักความเอาใจใส่มาให้แม้แต่น้อย สังคมที่แต่ละคนต่างต้องทำงานเพื่อหาเงินที่คนบางคนเชื่อว่ามันคือพระเจ้าที่บันดาลทุกสิ่งได้ พ่อแม่จึงมักไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่ลูก ความหมายของลูกที่พ่อแม่เข้าใจก็คือ ภาระที่สลัดอย่างไรก็ไม่มีวันออก เด็กที่เติบโตในครอบครัวแบบนี้จึงเป็นเด็กที่มีปัญหามาก จะเป็นคนที่ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง เก็บกด มีความรู้สึกไร้ความหวัง หดหู่ ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง บุคลิกของเจนจึงเต็มไปด้วยคับข้องใจ ความสับสน ไร้ที่พึ่ง รวมทั้งไม่มีความภูมิใจในตัวเองและครอบครัวแม้แต่น้อย ยิ่งเธอเป็นคนที่ในสายตาคนทั่วไปออกจะเชยหรือไม่ใช่คนสวยเมื่อเทียบกับแองเจล่าด้วยแล้ว ชีวิตของเธอก็ยิ่งไร้ความหมายมากขึ้นเท่านั้น

ส่วนครอบครัวของผู้พันฟิทซ์ค่อนข้างตรงกันข้ามกับของเลสเตอร์ แต่ที่เหมือนกันอย่างหนึ่งก็คือ การเลี้ยงดูลูกทั้งสองครอบครัวล้วนแต่ทำให้ลูกของตนเองมีปัญหาทั้งสิ้น ลูกชายของผู้พันฟิทซ์คือริกกี้ (แสดงโดย เวส เบนท์เล่ย์) ภาพที่ปรากฎในหนังทำให้เรารู้ว่าตัวผู้พันฟิทซ์นั้นเป็นทหารที่ค่อนข้างเคร่งครัดในระเบียบวินัยเป็นอย่างมาก ยิ่งเป็นนาวิกโยธินด้วยแล้วก็ยิ่งทำให้พอจะเดาได้ว่าชีวิตของการเป็นทหารคงผ่านความยากลำบากมาอย่างโชกโชน บุคลิกการแสดงออกของผู้พันไม่ว่าจะเป็นกิริยาท่าทาง วาจาคำพูด การแต่งกาย และสายตาที่มองริกกี้ลูกชายของตัวเอง ล้วนแต่เต็มไปด้วยความเคร่งครัดในระเบียบวินัยที่ตัวเขาเองเชื่อมั่นว่าเป็นสิ่งที่จะช่วยหล่อหลอมให้ลูกของเขามีบุคลิกภาพที่พึงประสงค์ ท่าทางและสายตาที่ฟิทซ์มีต่อคนอื่นๆ ในสังคมก็เต็มไปด้วยความไม่ไว้วางใจ ไม่เปิดโอกาสให้ใครก็ตามเข้ามามีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตครอบครัวของเขา การปฏิบัติตนของเขาในครอบครัวต่อภรรยาและลูกเป็นแบบอย่างที่ดีของการใช้อำนาจ ทุกสิ่งทุกอย่างในครอบครัวรวมทั้งการดำเนินชีวิตของสมาชิกครอบครัวต้องเป็นไปตามที่เขากำหนด การตรวจปัสสาวะของริกกี้ทุกหกเดือนเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นบุคลิกที่มีลักษณะอำนาจนิยมในตัวของเขาได้เป็นอย่างดี ภรรยาและลูกของผู้พันฟิทซ์มีสภาพไม่ต่างอะไรกับบริวารหรือผู้ใต้บังคับบัญชาในครอบครัวเท่านั้นเอง บรรยากาศภายในบ้านจึงมีแต่ความเงียบสงัด เป็นความเงียบสงัดที่กัดกร่อนชีวิตคนที่อยู่ร่วมกันไปทีละน้อยๆ ฉากที่ภรรยาของฟิทซ์นั่งเหม่อลอยอยู่คนเดียวในบ้าน โดยไม่รับรู้ต่อสิ่งรอบข้างแม้ว่าริกกี้จะพาเพื่อนสาวมาพบ เป็นฉากที่บอกกับเราคนดูได้ดีว่าคนในบ้านหลังนี้ตายไปหมดแล้ว ฉากนั่งดูโทรทัศน์ของฟิทซ์กับภรรยาบนโซฟาที่ริกกี้เข้ามานั่งร่วมด้วยเมื่อกลับมาบ้าน เปรียบได้กับฉากที่โต๊ะอาหารในบ้านของเลสเตอร์ เพียงแต่ถ้าเราสังเกตให้ดีก็จะเห็นว่าที่โซฟานั้นตัวผู้พันจะนั่งอยู่ตรงกลางโดยมีริกกี้นั่งอยู่ห่างออกไปด้านหนึ่ง และภรรยาของเขาอยู่อีกด้านหนึ่ง ทั้งนี้แต่ละคนต่างไม่ได้สนใจซึ่งกันและกันเลยแม้แต่น้อย ในขณะที่โต๊ะอาหารที่บ้านเลสเตอร์เราจะเห็นเจนนั่งตรงกลาง โดยมีพ่อกับแม่นั่งอยู่คนละด้านห่างออกไป ผมมีความรู้สึกว่าเป็นการเปรียบเทียบที่น่าสนใจทีเดียว สำหรับครอบครัวของริกกี้ ฟิทซ์คือศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่างนั่นเอง

ริกกี้เป็นตัวอย่างของวัยรุ่นที่ถูกกรอบแห่งระเบียบกฎเกณฑ์รัดเอาไว้จนกระดิกไปไหนไม่ได้ สิ่งที่หนังพยายามบอกก็คือความเคร่งครัด ความเข้มงวดไม่ใช่หลักประกันที่จะช่วยให้คนอยู่ในระเบียบวินัยได้เสมอไปโดยเฉพาะวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่ต้องการความเป็นตัวของตัวเอง ต้องการการแสดงออก ในทางทฤษฎีการเลี้ยงลูกแบบเน้นระเบียบวินัยเน้นกฎเกณฑ์ในการประพฤติปฏิบัติที่เคร่งครัด มักก่อให้เกิดปัญหากับตัวเด็กเองเสียเป็นส่วนใหญ่ เรามักพบว่าเด็กที่ถูกเลี้ยงในสภาพครอบครัวแบบนี้ส่วนหนึ่งจะมีบุคลิกชอบเก็บตัว ชอบสร้างโลกส่วนตัวของตนเองโดยลำพัง ไม่ชอบการถูกพันธนาการไม่ว่าจะด้วยในเรื่องใดก็ตาม บางครั้งจะเป็นคนที่ไม่เคารพกฎเกณฑ์ของสังคม จะมีพฤติกรรมตอบสนองความต้องการของตนเองโดยไม่สนใจต่อความถูกต้องหรือการยอมรับของสังคม บุคลิกของริกกี้ในหนังก็ค่อนข้างจะมีลักษณะเช่นนั้น เขาเป็นคนที่ชอบอยู่คนเดียว การแอบถ่ายวิดีโอพฤติกรรมของคนอื่นเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมตอบสนองความต้องการของตนเอง โดยไม่เคารพสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่นได้เป็นอย่างดี กฎระเบียบต่างๆ ที่พ่อของเขาวางไว้ไม่ได้มีความหมายต่อริกกี้เลย เขากลายเป็นคนขายยาเสพติด เขาแอบเข้าไปในห้องและหยิบของที่พ่อของเขาห้ามไว้ เขาแอบเอาปัสสาวะของเพื่อนแทนของตัวเองเพื่อให้พ่อไปตรวจ สิ่งที่น่าสนใจสำหรับตัวละครอย่างริกกี้ก็คือ สิ่งที่เราเรียกว่า กลวิธานในการป้องกันตนเอง (defense mechanism) ที่เขาเรียนรู้มาจากพฤติกรรมของพ่อ ในหนังเราจะเห็นได้ว่าทุกครั้งที่ริกกี้ถูกจับได้ว่าไม่ทำตามที่พ่อกำหนดและถูกพ่อลงโทษโดยการเข้าทำร้ายร่างกาย ริกกี้จะแสดงออกคล้ายกับพฤติกรรมของทหารในบังคับบัญชาของพ่อ คือยอมรับในความผิดของตนเองในทันที ยืนยันความผิดของตนเองต่อหน้าพ่อ โดยไม่มีการตอบโต้ใดๆ ทั้งสิ้น

หนังนำเสนอภาพสะท้อนของสังคมได้ดี ทุกสิ่งทุกอย่างในหนังไม่ใช่เรื่องในความคิดหรือเรื่องในจินตนาการ แต่เป็นความจริงที่เกิดขึ้นที่บ้านของเราเอง เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับชุมชนที่เราอาศัยอยู่ทุกวัน ลองสำรวจดูเถิดครับบางทีเราอาจลืมไปแล้วว่าเราเองก็กำลังเลี้ยงลูกแบบนี้อยู่เหมือนกัน ถามว่าปัญหาอย่างที่เกิดในหนังมีทางออกหรือไม่ ผมขอย้ำว่าทางออกนะครับไม่ใช่ทางแก้ เพราะปัญหาที่สั่งสมมาขนาดนั้นมันแก้ได้ยาก และหากจะแก้ได้คงต้องใช้เวลามาก มากเสียจนบางครั้งเราเองอาจเกิดความรู้สึกล้าและในที่สุดอาจกลับไปมีพฤติกรรมอย่างที่เคยเป็นมาอีกก็ได้ ผมว่าต้องเป็นทางออก เพราะตัวละครทุกคนในหนังนั้นต่างมาถึงทางตันที่ไม่รู้ว่าจะเดินไปทางไหนดี และในหนังเองก็เสนอทางออกเอาไว้แล้ว ความงามไงล่ะครับ อย่างที่ชื่อหนังบอกไว้ว่าเป็นความงามแบบอเมริกัน (ความจริงความงามที่ว่านี้ไม่จะเป็นไทย จีน อเมริกัน ฯ ไม่ต่างกันหรอกครับ) ความงามที่ว่านี้มีมากกว่าหนึ่งขึ้นอยู่กับตัวละคร

ความงามในแบบของเจนคืออะไรก็คือ การยอมรับจากคนอื่นนั่นเอง เจนนั้นเป็นเด็กที่ไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่มีความภาคภูมิใจในตัวเอง การคบหาสมาคมกับแองเจล่าที่สวยกว่า ทำให้เธอรู้สึกว่าตัวเธอนั้นไม่มีความหมาย เธอไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อน เธอไม่ได้รับความรักจากพ่อและแม่ แต่พอเธอมาพบกับริกกี้ที่มีความรู้สึกที่ดีต่อเธอ พูดคุยด้วยเสมือนหนึ่งเป็นคนที่เข้าใจความรู้สึกเธอ ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอไม่เคยได้รับจากพ่อกับแม่มานานมากแล้ว ความรู้สึกว่าตัวเธอนั้นก็มีความหมายต่อคนอื่นจึงเกิดขึ้น เป็นความรู้สึกที่ดีที่ริกกี้กับเจนมีต่อกัน ความงามจึงเริ่มปรากฏขึ้นในสายตาของเจนในที่สุด

สำหรับริกกี้ความงามของเขาก็คือ ความเป็นอิสระความเป็นตัวของตัวเอง จากสภาพในครอบครัวที่เขาต้องเผชิญทำให้เขาให้คุณค่ากับอิสรภาพค่อนข้างมาก ภาพถุงที่ลอยไปมาท่ามกลางกระแสลมพัดอ่อนๆ ที่เขาฉายวิดีโอให้เจนดูในห้อง และบอกกับเจนว่านี่คือสิ่งที่สวยงามที่สุดที่เขาเคยบันทึกเอาไว้ เป็นฉากที่ยืนยันถึงความงามในแบบของริกกี้ได้เป็นอย่างดี

แต่ทั้งความมีอิสะและการยอมรับจากคนอื่นก็ยังไม่ถือว่าเป็นความงามที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าความงามในแบบของเลสเตอร์ หากเราลองเอาวิดีโอหนังเรื่องนี้มาเปิดดูใหม่ก็จะพบว่า เลสเตอร์มักจะเหลือบมองภาพตัวเขา ภรรยาและลูกที่ถ่ายร่วมกันไว้ รวมทั้งยังระลึกถึงภาพเหตุการณ์ในครั้งที่ผ่านมาเมื่อสมัยที่เจนยังเล็กๆ อยู่เสมอ เป็นภาพที่มองหรือนึกถึงทีไรก็เป็นความสุขทุกครั้ง แม้ในช่วงเวลาที่เขาคิดว่าเขาค้นพบคำตอบแล้วจากการที่ได้พบกับแองเจล่า ที่ทำให้ความรู้สึกกระชุ่มกระชวยอยากเป็นหนุ่มกลับมาใหม่ ถึงกับลงทุนฟิตร่างกายให้ดูดีในสายตาของแองเจล่า แต่นั่นก็ไม่ใช่คำตอบที่แท้จริง เพราะความงามที่แท้จริงของเลสเตอร์ก็คือครอบครัวที่มีความสุขความอบอุ่นนั่นเอง มันไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะสำคัญมากไปกว่าความสุขของครอบครัวที่ประกอบไปด้วยพ่อแม่ลูกอีกแล้ว งาน ความสำเร็จ เงินทอง ล้วนไม่มีความหมายใดๆ ทั้งสิ้นหากทุกคนที่อยู่ร่วมกันในครอบครัวไม่มีความรัก ความห่วงใย และความเอื้ออาทรต่อกันอีกต่อไป ยิ่งเราห่างเหินกันมากเท่าไร เราก็ยิ่งใกล้กับความล้มเหลวในชีวิตมากเท่านั้น ผมว่าเราไม่ต้องไปเสียเวลาแสวงหาความงามที่ไหนหรอกครับ เพราะมันอยู่ในครอบครัวในบ้านของเราทุกคนนั่นเอง

วันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

สัญลักษณ์ใน The Wizard of Oz

คงมีหลายคนที่อาจคิดว่าทำไมเราต้องเพียรพยายามที่จะอธิบาย หรือหาความหมายต่างๆ นานาที่เราคิดว่ามันมีอยู่ในหนังแต่ละเรื่อง หนังคือความบันเทิง หนังคือเรื่องราวที่เกิดขึ้นและสิ้นสุดในตัวของมันเอง คำอธิบายตลอดจนบทสรุปต่างๆ มีอยู่แล้วในหนัง ฉะนั้นเข้าไปนั่งดูให้สนุกอย่าซีเรียสกับมันจนเกินไปนัก มันจะอะไรกันนักหนาก็แค่หนังเรื่องหนึ่งเท่านั้นเอง ผมเองเคยคิดอย่างนี้เหมือนกันครับ ชีวิตข้างนอกไม่ว่าจะในครอบครัวหรือในที่ทำงานมันก็เครียดพออยู่แล้ว พอมีเวลาว่างไปดูหนังก็น่าจะใช้ไปเพื่อการผ่อนคลายน่าจะเหมาะสมกว่า เห็นด้วยครับ เห็นด้วยอย่างยิ่งเลย แต่ไม่รู้สิครับพอเราดูหนังมากขึ้นๆ ก็เริ่มรู้สึกว่าหนังไม่ได้มีความหมายแต่เฉพาะที่เราเห็นในจอเท่านั้น มันยังมีความหมายที่ซ่อนอยู่อีกมากมายชวนให้เราคิด แน่นอนครับว่าเราไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนคนอื่นหรือคิดเหมือนเหมือนกันไปหมด ซึ่งที่จริงแล้วก็ไม่ควรจะเป็นอย่างนั้นด้วย แต่ยิ่งหลากหลายความคิดก็ยิ่งทำให้เราเข้าใจหนังเรื่องนั้นดียิ่งขึ้น และแน่นอนครับยิ่งหลากหลายความคิด ยิ่งทำให้เราเข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆ ในสังคมที่เราอาศัยอยู่ได้ดียิ่งขึ้นเช่นกัน ที่สำคัญการที่เราคิดนี่แหละครับเป็นสิ่งที่พิสูจน์กันในทางปรัชญาว่า เรานั้นมีตัวตนอยู่จริงในโลกนี้ ดังคำที่ เดส์การ์ต (Rene Descartes) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสว่าไว้ว่า “Cogito, ergo sum” ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “I think, therefore I am.” แปลง่ายๆ ครับว่า “เพราะฉันคิด ฉันจึงมีอยู่” ดังนั้นผมอยากชวนให้ทุกท่านลองดูหนังแล้วคิด คิดให้เยอะๆ ครับแล้วหากมีโอกาสลองแลกเปลี่ยนเป็นประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เพราะว่าหากเราเชื่อตามที่เดส์การ์ตว่าไว้ ยิ่งเราใช้ความคิดมากเท่าไร เราก็ยิ่งมีชีวิตอยู่จริงมีชีวิตอยู่อย่างมีความหมายในโลกนี้มากเท่านั้น

หนังหลายต่อหลายเรื่องท้าทายความคิดของเรามาก เพราะตลอดทั้งเรื่องเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ มากมาย ซึ่งเราต้องแปลสัญลักษณ์เหล่านั้นให้เป็นความหมาย (symbolic interpretation) จึงจะสามารถเข้าใจสิ่งที่ซ่อนอยู่ในหนังเรื่องนั้น (ผมเคยลองสังเกตง่ายๆ นะครับ หนังเรื่องไหนที่ดูง่ายไม่ซับซ้อนไม่ลึกซึ้งมากมายนัก เวลาหนังฉายจบ จะมีเสียงคนดูที่เดินออกมาจากโรงคุยกันอย่างออกรสออกชาด วิพากษ์วิจารณ์กันต่างๆ นานา แต่หนังเรื่องไหนที่ดูยากค่อนข้างมีเนื้อหาหนักและลึกซึ้ง เสียงวิพากษ์วิจารณ์จะมีไม่ค่อยมาก คือไม่ค่อยจะคุยกันเท่าไรนัก เพราะอาจจะดูไม่รู้เรื่อง ผมเองยังเคยเลยครับ สมัยเมื่อ 20 ปีที่แล้วผมเคยดูหนังเรื่องหนึ่งชื่อว่า Phantasm สารภาพจริงๆ ครับว่าตอนนั้นดูแล้วไม่รู้เรื่องเลย)

พูดถึงเรื่องสัญลักษณ์มีหนังอยู่เรื่องหนึ่งที่ผมอยากจะพูดถึงในที่นี้ หนังเรื่องนี้มีอายุราว 70 ปีได้แล้ว คือออกฉายครั้งแรกในปี 1939 เป็นหนังคลาสสิกที่ยังทรงคุณค่าอยู่ไม่เสื่อมคลาย ยิ่งในทางสังคมวิทยาด้วยแล้ว หนังเรื่องนี้คือผลงานสร้างสรรค์ที่นักสังคมวิทยาในยุคหลังที่นิยมการสอนโดยใช้หนังมาเป็นสื่อมักกล่าวถึงอยู่เสมอ หนังเรื่องที่ว่าก็คือ The Wizard of Oz

The Wizard of Oz สร้างจากนิยายที่ขายดีของ Frank Baum กำกับโดย Victor Fleming นำแสดงโดย Judy Garland, Frank Morgan, Ray Bolger, Bert Lahr, Jack Haley, Billie Burke, Gus Wayne ฯลฯ อย่างที่ว่าล่ะครับหนังเรื่องนี้เก่ามาก แต่ผมอยากให้ลองหามาดูกันอีกที เพราะถึงแม้จะเก่านะครับ แต่ปรากฏว่าในสหรัฐอเมริกาโดยเครือข่ายสถานีโทรทัศน์ซีบีเอส (CBS) จะนำออกแพร่ภาพทางโทรทัศน์ทุกปีในราวเดือนมีนาคมตอนเทศกาลอีสเตอร์ และที่สำคัญหนังเรื่องนี้เป็นหนังที่ตัวละครทั้งหลายล้วนแต่เป็นสัญลักษณ์แทนความหมายบางอย่างที่น่าสนใจมาก เป็นความหมายที่ลึกซึ้งที่สามารถอธิบายถึงชีวิตและสังคมในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เพียงแต่เราต้องลองกลับมาคิดและค้นหาอีกทีจึงจะเข้าใจและมองเห็น (ไม่ทราบท่านผู้อ่านจะเห็นเหมือนผมหรือเปล่าก็ไม่รู้)

พล๊อตเรื่อง The Wizard of Oz นั้นเป็นเรื่องของเด็กสาวกำพร้าคนหนึ่งนามว่า โดโรธี เกล อาศัยอยู่ในฟาร์มของลุงเฮนรี่และป้าเอมิลี่ของเธอที่เมืองแคนซัส เธอมีสุนัขที่เธอรักมากตัวหนึ่งชื่อว่า โตโต้ แต่เพื่อนบ้านของเธอยายคุณนายกัลช์ใจร้ายพยายามข่มขู่โดโรธีว่าจะจับเจ้าโตโต้ของเธอไป เธอจึงหนีออกจากฟาร์ม ศาสตราจารย์มาร์เวลบอกกับเธอว่าป้าของเธอล้มป่วย เธอจึงรีบกลับบ้าน ระหว่างทางเกิดพายุ โดโรธีหมดสติไป ตื่นมาอีกทีก็มาอยู่ในดินแดนแห่งความฝันที่ชื่อว่าอ๊อซ แม่มดใจดีตนหนึ่งชื่อกลินด้ากับเจ้าพวกมันช์กิ้น บอกให้เธอเดินไปตามถนนสีเหลือง (the yellow brick road) เพื่อไปพบกับพ่อมดแห่งอ๊อซผู้ยิ่งใหญ่ที่อาศัยอยู่ในเมืองมรกต (The Emerald City) ระหว่างทางเธอพบกับมนุษย์ฟางหรือหุ่นไล่กาที่ปรารถนาอยากได้ความฉลาดอยากได้สมอง พบกับเจ้ามนุษย์กระป๋องผู้ซึ่งปรารถนาอยากได้หัวใจอยากได้ความเอื้ออาทร และได้พบกับเจ้าสิงโตผู้ซึ่งปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะได้มาซึ่งความกล้าหาญ ในขณะที่โดโรธีนั้นปรารถนาที่จะได้กลับบ้านไปพบลุงกับป้า พ่อมดแห่งอ๊อซสามารถที่จะดลบันดาลให้สมปรารถนาได้ แต่ต้องไปฆ่ายายแม่มดใจร้ายแล้วเอาไม้กวาดมาให้ได้เสียก่อน โดโรธีกับพวกทำสำเร็จและนำไม้กวาดมาให้พ่อมดแห่งอ๊อซ พ่อมดจึงใช้อำนาจดลบันดาลให้ทุกคนได้สมตามความปรารถนายกเว้นโดโรธี ทั้งนี้เนื่องจากกลินด้าแม่มดใจดีได้มาบอกให้โดโรธีรู้ว่าที่จริงแล้วเธอนั้นสามารถที่จะกลับไปบ้านเมื่อใดก็ได้ เพราะเธอมีรองเท้าวิเศษอยู่แล้ว เธอจึงได้กลับบ้านสมตามความปรารถนา

อย่างที่กล่าวไว้แต่แรกว่าหนังเรื่อง The Wizard of Oz เต็มไปด้วยสัญลักษณ์มากมาย ตัวละครต่างๆ ในเรื่องล้วนแล้วแต่แทนความหมายถึงบางสิ่งบางอย่างแทบทั้งสิ้น ตัวโดโรธีนั้นเป็นตัวแทนของการแสวงหาชุมชนหรือสังคมใหม่ เป็นตัวแทนของคนหนุ่มสาวที่เต็มไปด้วยความหวังและพลัง พร้อมที่จะท้าทายสังคมและกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า เธอฝันอยู่เสมอถึงดินแดนที่สวยงามกว่า ดินแดนที่มีแต่ความรักความเอื้ออาทรที่ทุกคนมีชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างความสุข ในหนังเราจะได้ยินบทเพลง Over the Rainbow ดินแดนที่โดโรธีฝันอยู่ที่ไหนสักแห่งบนรุ้งสายนั้นนั่นเอง…somewhere over the rainbow ตราบใดที่เราทุกคนยังมีความฝันยังมีพลังและความกล้า เราทุกคนก็คือโดโรธีนั่นเอง

ป้าเอมิลี่และลุงเฮนรี่เป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่ในสังคม ที่ในสมัยยังเป็นหนุ่มเป็นสาวคนเหล่านี้มีไฟแรงพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงและท้าทายสิ่งที่ไม่ถูกต้องในสังคม แต่เมื่อพวกเขามีอายุมากขึ้นไฟและพลังเหล่านั้นก็ค่อยๆ มอดลงๆ รอยยิ้มที่เปี่ยมด้วยศรัทธาเมื่อครั้งยังเป็นหนุ่มสาวถูกแทนที่ด้วยใบหน้าที่ผ่านการตรากตรำทำงานหนักมาตลอดชีวิต

แคนซัสและฟาร์มของป้าเอมิลี่และลุงเฮนรี่ที่โดโรธีอาศัยอยู่นั้นเป็นตัวแทนของความยากลำบากความแร้นแค้นที่สังคมประสบอยู่ ภาพของผืนดินสีเทาที่ปราศจากต้นไม้ ดอกไม้หรือแม้แต่น้ำ เป็นภาพสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจที่กำลังประสบปัญหารุนแรง (ผมว่าสังคมไทยทุกวันนี้ก็ไม่ผิดอะไรกับแคนซัสใน The Wizard of Oz สักเท่าไร) จนก่อให้เกิดเป็นแรงผลักดันที่จำต้องแสวงหาสังคมใหม่ กล่าวคือหนังเรื่องนี้ออกฉายในปี 1939 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นเป็นช่วงเวลาที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกประสบกับปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อันเป็นผลมาจากปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Great Depression หรือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในทศวรรษที่ 1930 ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลก ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำดังกล่าวเริ่มมาตั้งแต่ปี 1929 เรื่อยมาจนถึงปี 1939 ซึ่งหลังจากนั้นโลกก็เข้าสู่ช่วงเวลาแห่งสงครามโลกครั้งที่สอง (ค.ศ.1939 – 1945) หนังเรื่อง The Wizard of Oz จึงเป็นเสมือนตัวแทนของเสียงเรียกร้องของประชาชนที่ต้องการให้มีการแก้ไขสภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น

เจ้าโตโต้เป็นตัวแทนของผู้ที่ทำหน้าที่คอยเปิดเผยและชี้ให้เห็นถึงความจริงที่อยู่เบื้องหลังความเสแสร้ง ความหลอกลวง ความลับๆ ล่อๆ พิกลพิการ และความไม่จริงใจที่ดำรงอยู่ในสังคม และเนื่องจากโตโต้เป็นสุนัขที่โดโรธีรักมากคอยอยู่เคียงข้างกายของเธอตลอดเวลา ดังนั้นโตโต้ยังเป็นตัวแทนของความรู้ และความเข้าใจในความเป็นจริงของชีวิตอีกด้วย อย่าลืมว่าโดโรธีนั้นเป็นเด็กกำพร้า เธอไม่มีพ่อแม่ที่จะคอยเป็นที่ปรึกษาและชี้ให้เห็นถึงความจริงที่ดำรงอยู่ ดังนั้นเมื่อโดโรธีคือตัวแทนคนหนุ่มสาวที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง โตโต้จึงเปรียบได้กับความรู้ ความเข้าใจ และความเป็นจริงของชีวิตและของสังคมที่ดำรงอยู่ในตัวของคนหนุ่มคนสาวทุกคน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องค้นหาให้พบ (ปัญหามีอยู่ว่าหนุ่มสาวในสังคมทุกวันนี้ค้นพบมันแล้วหรือยัง)

พายุที่พัดมายังฟาร์มของป้าเอมิลี่และลุงเฮนรี่เกิดจากลมทั้งสี่ทิศ คือทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก เป็นเสมือนตัวแทนของพลังประชาชน ที่ทำหน้าที่ทำลายล้างความไม่ถูกต้อง ความไม่ชอบธรรม ความลำบากยากแค้น ความเอารัดเอาเปรียบ ความไม่ดีไม่งามทั้งหลายให้หมดไป (พายุในสังคมไทยก่อตัวขึ้นมาหรือยัง…หรือเป็นแต่เพียงลมที่ยังพัดมาไม่ครบทั้งสี่ทิศ…?)

ดินแดนอ๊อซเป็นตัวแทนของสังคมยูโทเปีย (utopia) หรือสังคมในอุดมคติที่มนุษย์ปรารถนา เป็นสังคมที่มีแต่ความสุข ปราศจากการแบ่งแยก การเอารัดเอาเปรียบ หรือการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ทุกคนในสังคมมีแต่ความเท่าเทียมกัน ไม่มีชนชั้น ไม่มีวรรณะ ฯ

แม่มดใจร้ายเป็นตัวแทนของระบบทุนนิยมที่ขูดรีดเอาส่วนเกินจากชาวนาและกรรมกร บรรดามันช์กิ้นที่อยู่ในหนังเปรียบได้กับคนหรือกรรมกรที่ถูกสาบให้ตกเป็นทาสของนังแม่มดใจร้าย หรืออีกนัยหนึ่งตกเป็นทาสของระบบทุนนิยมที่ครอบงำสังคมโลกนี้เอาไว้ ทุกวันนี้เราทำงานไปเพื่ออะไรถ้าไม่ใช่เพื่อเงิน ระบบทุนนิยมสอนให้เราบูชาวัตถุ บูชาเงิน มนุษย์จึงทำทุกอย่างทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เงินมากขึ้นๆ โดยเชื่อว่ายิ่งมีเงินมากเท่าไร ก็ยิ่งมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น แต่ยิ่งทำก็ยิ่งตกเป็นทาสของระบบที่เน้นทุนเป็นหลัก ยิ่งเดินตามระบบมากเท่าไรก็ยิ่งเป็นทาสมากเท่านั้น (ผมว่าสังคมไทยทุกวันนี้เป็นสังคมที่ถูกครอบงำโดยนังแม่มดชั่วร้ายตัวนี้อย่างสิ้นเชิง เราทุกคนคือมันช์กิ้นที่ทำงานอย่างหนักเพื่อเอาเงินไปบูชาลัทธิบริโภคนิยม)

ถนนสีเหลือง (the yellow brick road) เป็นตัวแทนของนโยบายทางเศรษฐกิจที่เน้นการสั่งสมเงินทองและความมั่งคั่ง เป็นตัวแทนของสถาบันการเงินการธนาคารที่ไม่เคยให้ความสำคัญกับผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และคนที่ทำธุรกิจขนาดย่อมหรือ SMEs (จริงหรือไม่จริงก็ดูเอาได้จากสังคมไทยนี่แหละครับ) เป็นนโยบายเศรษฐกิจที่คนยากคนจนไม่เคยได้รับประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่ข้าวยากหมากแพง ค่าแรงถูก ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ ดอกเบี้ยเงินกู้สูง (นโยบายของรัฐบาลไม่เคยเอื้อประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่ในสังคมเลย นี่แหละครับถนนสีเหลืองในสังคมไทย)

รองเท้าวิเศษของโดโรธีที่ได้มาจากแม่มด เป็นตัวแทนของความต้องการของประชาชน เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรมในทางเศรษฐกิจ

มนุษย์ฟางหรือหุ่นไล่กาเป็นตัวแทนของคนยากคนจน เกษตรกร ผู้ซึ่งไม่ได้รับการศึกษาที่ดีพอ จึงทำให้ขาดความรู้ความเข้าใจในการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของตัวเอง ในทางกลับกันมนุษย์ฟางก็เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการแสวงหาความรู้ความเข้าใจที่ดีในการดำเนินชีวิตในสังคม

มนุษย์กระป๋องนับเป็นสัญลักษณ์ที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นตัวแทนของคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหลายผู้ซึ่งถูกระบบการทำงานแปรสภาพเป็นเสมือนเครื่องจักร ทำงานไปแบบไร้หัวจิตหัวใจ ไร้วิญญาณ การทำงานไม่สามารถสร้างความสุขให้เกิดขึ้นได้ การทำงานไม่ได้มีความหมายใดๆ แก่ชีวิตนอกจากเงินที่จะได้ตอบแทนมาเท่านั้น ในอีกด้านหนึ่งมนุษย์กระป๋องจึงเป็นเสมือนการแสวงหาจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ เป็นการแสวงหาความรักความเข้าใจซึ่งกันและกัน ซึ่งนับเป็นความหมายที่ทรงคุณค่าแก่ชีวิตมากกว่าแค่เงินทอง

เจ้าสิงโตขี้ขลาดเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนของคนที่ยอมแพ้ต่อระบบ คนพวกนี้สมัยหนึ่งเคยลุกขึ้นต่อสู้ ลุกขึ้นท้าทายต่ออำนาจ แต่ในที่สุดพ่ายแพ้ต่ออำนาจและระบบที่ครอบงำอยู่ กลายเป็นคนที่ยอมรับสภาพไม่กล้าที่จะลุกขึ้นสู้อีกเลย ไม่กล้าแม้แต่จะพูดความจริง

พ่อมดแห่งอ๊อซเป็นสัญลักษณ์แทนนักการเมืองที่ทรงอำนาจ ความจริงอำนาจเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นความกล้าหาญ ความรู้ความเข้าใจ และความรักความเห็นอกเห็นใจ (ตามที่ปรากฎอยู่ในหนัง) เป็นของประชาชนทุกคนมาก่อนอยู่แล้ว เพียงแต่เราเอาไปมอบให้กับนักการเมืองในฐานะที่เป็นผู้แทนของเรา ตามความเชื่อแบบประชาธิปไตยว่าคนพวกนี้จะทำตามความต้องการของคนส่วนใหญ่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนใหญ่เป็นสำคัญ ซึ่งในความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย ดังนั้นเมื่อประชาชนต้องการอำนาจเหล่านั้นกลับต้องไปอ้อนวอนขอจากนักการเมืองเหล่านั้นแทน การที่ทั้งมนุษย์ฟาง มนุษย์กระป๋อง และสิงโตขี้ขลาด ต้องไปอ้อนวอนขอพรจากพ่อมดแห่งอ๊อซเพื่อให้ได้สมอง (brain) หัวใจ (heart) และความกล้าหาญ (courage) นั้นเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนที่แสดงถึงอำนาจของนักการเมืองเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

เมืองมรกต (The Emerald City) ที่พ่อมดแห่งอ๊อซอาศัยอยู่ เป็นสัญลักษณ์แทนเมืองที่ถือเรื่องเงินเป็นสรณะ เป็นเมืองที่ทุกอย่างถูกประเมินค่าเป็นเงินไปหมด เมืองหรือนครต่างๆ ในโลกล้วนแล้วแต่มีลักษณะเช่นนี้ทั้งสิ้น กล่าวคือมีความทันสมัยสวยงาม มีแสงสีและความเจริญก้าวหน้า แต่ชีวิตในเมืองต่างต้องดิ้นรนเพื่อแสวงหาเงินมาดำรงชีวิต ใครที่ไม่มีเงินไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในเมืองมรกต ใครที่มีเงินมากย่อมมีอำนาจในเมืองมรกต

ความจริงหนังยังมีสัญลักษณ์ที่น่าสนใจอีกมากมาย ที่กล่าวมานั้นเป็นตัวอย่างที่อยากอ้างถึงเพื่อให้ทุกคนเกิดความรู้สึกอยากกลับไปหามาดูกันใหม่ The Wizard of Oz ไม่ใช่หนังสำหรับเด็กเท่านั้น แต่เป็นหนังที่เหมาะสำหรับคนที่ต้องการแสวงหาความหมายของชีวิตและความหมายของสังคม


จาก The Wizard of OZ ย้อนกลับมามองยังสังคมไทย ผมว่าเราสามารถเปรียบเทียบกันได้ไม่ยาก สังคมไทยเป็นทั้งแคนซัส และเมืองมรกตในเวลาเดียวกัน กล่าวคือด้านหนึ่งเป็นสังคมที่ยังมีสภาพของความลำบากยากแค้นอยู่ทั่วไป ยิ่งในปัจจุบันนี้ด้วยแล้วเรายิ่งสามารถเห็นได้ชัดเจน ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจส่งผลให้ประชาชนมีชีวิตอยู่อย่างขัดสน คนว่างงานเพิ่มขึ้น ธุรกิจล้มละลาย น้ำมันมีราคาแพงส่งผลให้สินค้าอุปโภคบริโภคพลอยมีราคาสูงตามไปด้วย รายได้ของประชาชนลดลง หนี้สินเพิ่มขึ้นทั้งภาครัฐและเอกชน ฯ ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งสังคมไทยก็เป็นเมืองมรกตที่ทุกคนถือเอาเงินเป็นสรณะแห่งชีวิต ชีวิตทุกชีวิตต่างไขว่คว้าให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินเงินทอง คุณค่าและความหมายของชีวิตวัดกันที่เงิน คุณค่าของสังคมวัดกันที่โครงการภาครัฐที่ต้องอาศัยเงินกู้ต่างประเทศเป็นหมื่นเป็นแสนล้านบาท ประชาชนส่วนใหญ่เป็นเสมือนมนุษย์ฟางที่ขาดความรู้ความเข้าใจในความเป็นไปของสังคม เป็นเสมือนมนุษย์กระป๋องที่ไร้จิตวิญญาณ มีชีวิตและทำงานไปวันๆ เหมือนกับหุ่นยนต์ที่ผู้มีอำนาจสามารถบงการอย่างไรก็ได้ เป็นเสมือนสิงโตที่กลัวไปหมดทุกอย่าง ไม่มีแม้แต่ความกล้าที่จะทวงสิทธิอันพึงมีพึงได้ของตนเอง รัฐบาลที่มาจากนักการเมืองก็เหมือนกับพ่อมดแห่งอ๊อซที่เราเอาอำนาจไปมอบให้เขา แต่เวลาที่ต้องการให้รัฐบาลทำอะไรให้ต้องไปกราบกราน ไปอ้อนวอน ซึ่งก็ไม่เคยได้ตามที่คนส่วนใหญ่ต้องการเท่าไรนัก (ต้องอาศัยการประท้วงจึงจะเป็นผลอยู่บ้าง) คนส่วนใหญ่ไม่มีใครอยากอยู่ในสภาพอย่างนี้ตลอดไป การแก้ไขของรัฐบาลก็ไม่ค่อยได้ผลสักเท่าไรนัก ผมว่าคนอย่างโดโรธีมีอยู่ค่อนข้างมากในสังคม แต่อยู่อย่างที่ไม่รู้ว่าความจริงแล้วพวกเขาเองก็มีรองเท้าวิเศษอยู่กับตัว อยู่อย่างไม่รู้ว่าพวกเขาก็มีสมอง มีความกล้า และมีจิตวิญญาณที่พร้อมจะต่อสู้เพื่อให้เกิดสิ่งดีๆ ในสังคม เพียงแต่พวกเขาจะค้นพบและมองเห็นสิ่งเหล่านั้นได้เมื่อไร หากเพลงที่โดโรธีร้อง (Over the Rainbow) ในหนังมีมนต์ขลังจริง สิ่งที่เราทุกคนฝันและอยากจะเห็นคงปรากฏขึ้น ณ ที่ใดที่หนึ่งบนรุ้งสายนั้นอย่างแน่นอน

Pygmalion Study : สังคมวิทยาในภาพยนตร์

ในปี 1968 Robert Rosenthal กับ Lenore Jacobson ได้ทำการทดลองที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในเมืองโอ๊คแลนด์ มลรัฐคาลิฟอร์เนีย เพื่อต้องการพิสูจน์ว่าความสำเร็จของคนเรา โดยเฉพาะในกรณีของการแสดงออกเชิงพฤติกรรมและการมองเห็นคุณค่าในตัวเองนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นมาเองโดยลำพัง แต่เป็นผลมาจากการเรียนรู้และการกระทำร่วมกันกับคนอื่นในสังคม Rosenthal และJacobson ได้เลือกนักเรียนเกรด 6 มาห้องหนึ่ง แล้วแจ้งกับครูผู้สอนว่าเด็กนักเรียนในห้องนั้นประมาณร้อยละ 20 เป็นเด็กที่ได้ผ่านการทดสอบ IQ test มาแล้ว และพบว่ามีระดับเชาว์ปัญญาสูง จึงคาดว่าจะเป็นเด็กที่มีพัฒนาการทางการศึกษา และสามารถประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี โดยที่ครูเหล่านั้นไม่รู้มาก่อนว่าที่จริงเด็กพวกนั้นเป็นเด็กนักเรียนธรรมดาทั่วไปนั่นเอง ไม่ได้ผ่านการทดสอบระดับเชาว์ปัญญามาก่อนแต่อย่างใด Rosenthal และ Jacobson เลือกให้เด็กกลุ่มนั้นเป็นกลุ่มทดลอง (experimental group) อย่างไรก็ตามด้วยความที่ครูเหล่านั้นไม่ทราบว่าเด็กร้อยละ 20 ที่ว่านั้นเป็นใครบ้าง แต่เชื่อว่าเด็กนักเรียนเป็นอย่างที่ Rosenthal และ Jacobson บอกไว้แต่แรก จึงปฏิบัติต่อเด็กนักเรียนในห้องนั้นเหมือนกับเป็นเด็กที่มีระดับเชาว์ปัญญาสูงด้วยกันทั้งหมด ปรากฏว่าผลการเรียนของเด็กที่อยู่ในกลุ่มทดลองของ Rosenthal และ Jacobson อยู่ในระดับที่ดี ทั้งยังมีการพัฒนาเชิงพฤติกรรมเป็นที่น่าพอใจอีกด้วย ที่สำคัญเด็กนักเรียนคนอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มทดลองก็มีผลการเรียนอยู่ในระดับที่ดีตามไปด้วยเช่นกัน

การทดลองของ Rosenthal และ Jacobson ที่กล่าวมาข้างต้นเรียกว่า Pygmalion Study ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการที่เด็กนักเรียนสามารถประสบผลสำเร็จทางการเรียนได้นั้น ไม่ได้เกิดจากความสามารถของเด็กโดยลำพัง แต่เป็นผลที่เราเรียกกันว่า collective product ที่เนื่องมาจากการกระทำร่วมกัน (social interaction) ระหว่างครูผู้สอนกับเด็กนักเรียนทุกคน บนพื้นฐานที่ไม่มีการจำแนกความแตกต่างทางสติปัญญาแต่อย่างใด นั่นหมายความว่าที่ผ่านมาการที่เด็กนักเรียนมีผลสัมฤทธิทางการเรียนต่างกัน ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากได้รับการปฏิบัติจากครูที่แตกต่างกันนั่นเอง โดยเชื่อว่าเด็กที่มีเชาว์ปัญญาสูงควรได้รับการปฏิบัติและการถ่ายทอดความรู้แบบหนึ่ง ในขณะที่เด็กที่มีระดับเชาว์ปัญญาต่ำ ก็ควรได้รับอีกแบบหนึ่ง (ผมว่าคล้ายๆ กับโรงเรียนในบ้านเรา ที่ห้องเรียนเด็กเก่งครูก็จะสอนแบบหนึ่ง ขณะที่ห้องเรียนเด็กไม่เก่งครูก็จะสอนอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นผลให้เด็กเก่งก็ยิ่งเก่งมากขึ้น เด็กที่อ่อนก็ยิ่งเรียนแย่ลงๆ เรื่อยๆ นับเป็นตัวอย่างของความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษาโดยแท้) ในทางสังคมวิทยาถือว่าการทดลองครั้งนี้น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีการนำไปโยงกับกรณีความแตกต่างในเรื่องอื่นๆ อย่างเช่น ความแตกต่างทางความเชื่อหรือศาสนา ความแตกต่างทางเชื้อชาติ ความแตกต่างทางชนชั้น และความแตกต่างทางเพศ ฯ โดยกล่าวว่าหากเราไม่ถือเอาความแตกต่างเหล่านั้นเป็นเครื่องจำแนกบุคคล บางทีปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ในสังคมก็อาจไม่เกิดขึ้นรุนแรงอย่างทุกวันนี้

นั่นคือเรื่องที่เล่ากันในตำนาน แต่ที่ผมยกเอาเรื่องนี้มาพูดก็ด้วยเหตุว่าการทดลองดังกล่าวของ Rosenthal และ Jacobson นั้น ได้รับแรงบันดาลส่วนหนึ่งมาจากภาพยนตร์หรือหนังเรื่องหนึ่งนั่นก็คือ My Fair Lady หนังเรื่องนี้ออกฉายครั้งแรกเมื่อปี 1964 นำแสดงโดย Rex Harrison และ Audrey Hepburn กำกับการแสดงโดย George Cukor หนังเริ่มด้วยการพบกันโดยบังเอิญของ Eliza Doolittle (แสดงโดย Hepburn) หญิงสาวขายดอกไม้ผู้ยากจนคนหนึ่ง กับ Henry Higgins (แสดงโดย Harrison) ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางภาษาศาสตร์ ด้วยความที่เป็นหญิงสาวในชนชั้นต่ำกิริยาท่าทาง ตลอดจนภาษาที่เธอใช้และสำเนียงที่เธอพูดจึงถูกจัดว่าเป็นกิริยาท่าทางและภาษาของชนชั้นต่ำ โดยพวกชนชั้นสูงถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง Higgins พนันกับเพื่อนคนหนึ่งที่ชื่อว่าพันเอก Pickering (แสดงโดย Wilfred Hyde-White) ว่าภายในหกเดือนเขาสามารถเปลี่ยนหญิงคนนี้ให้เป็นผู้ดีได้ด้วยวิธีการง่ายๆ โดยการสอนภาษาอังกฤษที่ถูกต้องให้กับเธอ เวลาผ่านไปในหนังมีเหตุการณ์ต่างๆ ที่แสดงถึงการกระทำระหว่างกันระหว่าง Higgins กับ Doolittle ในลักษณะของการขัดเกลาทางสังคม (re-socialization) จนในที่สุด Higgins ก็ทำสำเร็จ เขาสามารถเปลี่ยนหญิงสาวชั้นต่ำที่ใช้ภาษาและสำเนียงที่ไม่เหมาะสม ให้เป็นคนที่พูดจาได้อย่างไพเราะเป็นสำเนียงและภาษาของผู้ดี จากสาวที่มีกิริยาท่าทางที่ไม่เหมาะสมมาเป็นหญิงสาวที่มีท่าทางสง่างามในท่ามกลางสังคมชนชั้นสูง เขาสามารถทำให้คนเชื่อว่าเธอเป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคมไฮโซไซตี้ได้จริงๆ นอกจากฝีมือการแสดงชั้นเยี่ยมของ Harrison กับ Hepburn ตลอดจนบทเพลงอันไพเราะและรางวัลออสการ์เป็นประกันถึง 8 ตัวแล้ว หนังเรื่องนี้ถือว่ามีคุณค่าแก่การศึกษาในทางสังคมวิทยาเป็นอย่างยิ่ง เพราะได้แสดงให้เห็นถึงประเด็นของ Pygmalion Study ได้เป็นอย่างดี หญิงสาวขายดอกไม้ในหนังเปรียบได้กับเด็กนักเรียนในการทดลองของ Rosenthal และ Jacobson ที่กล่าวถึงตอนต้น ความสามารถในการเป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคมคนชั้นสูงเปรียบได้กับสัมฤทธิผลทางการเรียนของเด็กนักเรียนเหล่านั้น ตัวของ Higgins เองก็เปรียบได้กับครูที่เชื่อว่าเด็กนักเรียนในชั้นเป็นเด็กที่มีระดับเชาว์ปัญญาสูง หนังคลาสสิกอย่าง My Fair Lady จึงเป็นหนังที่สามารถตอกย้ำถึงความเชื่อที่ว่าความแตกต่างทางสังคมของบุคคลไม่ใช่อุปสรรคในการบรรลุถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์แต่อย่างใด คนแต่ละคนสามารถพัฒนาจนสามารถไปสู่จุดนั้นได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยผ่านทางกระบวนการเรียนรู้ การขัดเกลาทางสังคม และการขจัดอคติความแตกต่างระหว่างบุคคลทั้งหลายที่มีอยู่ให้หมดไป

คำว่า Pygmalion นำมาจากเรื่องราวในตำนานเทพเจ้าของกรีกและโรมัน คือตามความเชื่อของชาวกรีกและโรมันสมัยโบราณมีการกล่าวถึงปฏิมากรผู้หนึ่งที่มีนามว่า พิกเมเลียน (Pygmalion ตามความเชื่อของพวกกรีกกล่าวว่า พิกเมเลียนก็คือกษัตริย์องค์หนึ่งแห่งไซปรัส) ซึ่งเป็นคนที่เกลียดผู้หญิงเป็นอย่างมาก ถึงกับตั้งปณิธานไว้ว่าชาตินี้จะไม่ขอแต่งงาน อย่างไรก็ตามเขาได้แกะสลักรูปปั้นผู้หญิงขึ้นมาชิ้นหนึ่งซึ่งมีความงดงามมาก จนในที่สุดเขาก็หลงรักรูปปั้นผู้หญิงคนนั้น พิกเมเลียนได้อ้อนวอนต่อเทพอะโฟรไดท์ (Aphrodite) หรือที่เรารู้จักกันดีในนามของเทพวีนัส (Venus) ซึ่งถือกันว่าเป็นเทพแห่งความรัก (Goddess of Love) ขอให้ประทานผู้หญิงให้กับเขาคนหนึ่งที่สวยงามเหมือนกับรูปปั้นหญิงสาวที่เขาปั้นขึ้นมา เทพอะโฟรไดท์ได้รับคำอ้อนวอนและตอบสนองคำขอของเขาโดยการบันดาลให้รูปปั้นนั้นมีชีวิตขึ้นมาจริงๆ และกลายเป็นคนรักของพิกเมเลียน เขาให้ชื่อเธอว่า กาลาเทีย (Galatea) ซึ่งต่อมาก็ให้กำเนิดบุตรชายแก่เขาคนหนึ่งชื่อว่า ปาฟอส (Paphos)

นั่นคือเรื่องที่เล่ากันในตำนาน ซึ่ง George Bernard Shaw นักเขียนรางวัลโนเบลได้เคยนำเอาชื่อ Pygmalion นี้มาสร้างเป็นบทละครในชื่อเดียวกันในปี 1914 เป็นบทละครที่เกี่ยวกับความรัก ชนชั้น และการกดขี่ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน เป็นเรื่องราวของหญิงสาวคนหนึ่งที่มีชีวิตอยู่อย่างไร้คุณค่า ไร้ความหมาย และตกอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ชายอย่างสิ้นเชิง ต่อมา Alan Jay Lerner และ Frederick Loewe ก็นำบทดังกล่าวของ Shaw มาสร้างเป็นบทละครเพลงที่ใช้แสดงบนเวทีบรอดเวย์ บทภาพยนตร์ในหนังเรื่อง My Fair Lady เขียนโดย Alan Jay Lerner ซึ่งดัดแปลงมาจากบทละครของเขาเองกับ Loewe นั่นเอง

ภาพยนตร์หรือหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ Pygmalion Study ไม่ได้มีแต่เฉพาะ My Fair Lady เรื่องเดียว ยังมีอีกหลายเรื่อง หนังที่สร้างความประทับใจและทิ้งคำถามในเชิงปรัชญาการศึกษาไว้ให้กับเราอย่าง Dead Poets Society ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หนังเรื่องนี้นำแสดงโดย Robin Williams, Robert Sean Leonard, Ethan Hawke ฯ เขียนบทโดย Tom Schulman โดยมี Peter Weir เป็นผู้กำกับการแสดง หนังพีเรียดดรามาเรื่องนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในราวปี 1959 ในโรงเรียนเตรียมอุดม Welton Academy ที่มีระบบการเรียนการสอนแบบอนุรักษ์นิยมดั้งเดิม คือเน้นความมีวินัย ความเป็นระเบียบเรียบร้อย การอยู่ในแบบแผนความประพฤติปฏิบัติที่ทางโรงเรียนกำหนด และการติดยึดอยู่กับเนื้อหาในแบบเรียนที่เปรียบเสมือนเป็นคัมภีร์แห่งชีวิต นักเรียนที่เข้าเรียนในโรงเรียนนี้จะถูกคาดหวังจากผู้ปกครองมากว่าจะต้องมีอนาคตที่สดใส จนกระทั่ง John Keating (แสดงโดย Robin Williams) ครูสอนวิชาวรรณคดีคนใหม่เข้ามา บางอย่างเริ่มเปลี่ยนแปลง Keating สอนให้นักเรียนมองโลกในมุมมองที่ต่างออกไป การลุกขึ้นยืนบนโต๊ะเรียนแทนที่จะนั่งเหมือนอย่างปกติเป็นการเริ่มต้นอย่างง่ายๆ Keating ใช้บทกวีเป็นสื่อในการทำให้นักเรียนรู้จักตัวเอง มีความคิดเสรี และกล้าที่จะคิดไม่เหมือนกับคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่เหมือนกับที่คนอื่นคาดหวังเอาไว้ หนังชี้ให้เห็นถึงการบรรลุถึงคุณค่าของมนุษย์โดยการพาตัวเองออกจากกรอบที่คนอื่นและสังคมเป็นคนกำหนด โดยผ่านกระบวนการกระทำระหว่างกันระหว่างครูกับลูกศิษย์ตามทฤษฎีทางสังคมวิทยา Symbolic Interaction (ในทัศนะของผมหนังเรื่องนี้มีพลังและแรงบันดาลใจสูงมาก รวมทั้งเป็นหนังที่ใช้อธิบายทฤษฎี Symbolic Interaction ได้เป็นอย่างดี ไว้ผมจะหาโอกาสเขียนถึงเรื่องนี้โดยละเอียดในโอกาสต่อไป) แม้ว่าในที่สุดจะเกิดโศกนาฏกรรมจากการยิงตัวตายของ Neil (แสดงโดย Robert Sean Leonard) ที่ค้นพบว่าที่จริงแล้วตัวเองปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเป็นนักแสดง ขณะที่พ่อของเขาไม่เห็นด้วยอย่างสิ้นเชิง แต่นั่นก็ไม่สามารถปิดกั้นความคิดเสรี และการบรรลุถึงคุณค่าในตัวเองของนักเรียนที่เป็นสมาชิกของ Dead Poets Society ได้อีกต่อไป การพร้อมใจกันยืนบนโต๊ะเรียนต่อหน้าครูใหญ่เพื่อแสดงออกถึงความรู้สึกผูกพันที่มีต่อครู Keating ที่ถูกไล่ออก ความรู้สึกคัดค้านต่อการตัดสินใจของ Mr. Nolan ครูใหญ่ และความรู้สึกที่มีต่อระบบการศึกษาของโรงเรียนที่ครอบงำความคิดของนักเรียนในตอนท้ายของเรื่องนั้น นับเป็นฉากที่มีพลังที่ยืนยันถึงแบบจำลองแนวคิดในเรื่อง Pygmalion Study ได้เป็นอย่างดี

ในทางวิชาการสังคมวิทยาปัจจุบัน คำว่า Pygmalion Study จึงหมายถึงการศึกษาใดๆ ก็ตามที่ชี้ให้เราเห็นว่าการบรรลุถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ การมองเห็นคุณค่าในตัวเองนั้น เป็นผลมาจากการกระทำระหว่างกันในสังคม มากกว่าที่จะเป็นคุณลักษณะที่ติดตัวเรามาแต่กำเนิด ความแตกต่างทางสังคมของบุคคลนอกจากจะเป็นอุปสรรคในการแสวงหาคุณค่าในตัวเองแล้ว ยังเป็นอุปสรรคสำคัญของมนุษย์ในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในโลกใบนี้ การอธิบายเรื่องอย่างนี้ในเชิงวิชาการไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การอธิบายโดยใช้ภาพยนตร์หรือหนังเป็นสื่อกลับทำให้เรารู้สึกถึงความหมายเหล่านั้นได้ไม่ยาก หนังจึงไม่ได้มีไว้เพื่อความบันเทิงแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นสิ่งที่เต็มไปด้วยความหมายของชีวิตที่รอให้เราทุกคนเข้าไปแสวงหาร่วมกัน