วันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

Pygmalion Study : สังคมวิทยาในภาพยนตร์

ในปี 1968 Robert Rosenthal กับ Lenore Jacobson ได้ทำการทดลองที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในเมืองโอ๊คแลนด์ มลรัฐคาลิฟอร์เนีย เพื่อต้องการพิสูจน์ว่าความสำเร็จของคนเรา โดยเฉพาะในกรณีของการแสดงออกเชิงพฤติกรรมและการมองเห็นคุณค่าในตัวเองนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นมาเองโดยลำพัง แต่เป็นผลมาจากการเรียนรู้และการกระทำร่วมกันกับคนอื่นในสังคม Rosenthal และJacobson ได้เลือกนักเรียนเกรด 6 มาห้องหนึ่ง แล้วแจ้งกับครูผู้สอนว่าเด็กนักเรียนในห้องนั้นประมาณร้อยละ 20 เป็นเด็กที่ได้ผ่านการทดสอบ IQ test มาแล้ว และพบว่ามีระดับเชาว์ปัญญาสูง จึงคาดว่าจะเป็นเด็กที่มีพัฒนาการทางการศึกษา และสามารถประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี โดยที่ครูเหล่านั้นไม่รู้มาก่อนว่าที่จริงเด็กพวกนั้นเป็นเด็กนักเรียนธรรมดาทั่วไปนั่นเอง ไม่ได้ผ่านการทดสอบระดับเชาว์ปัญญามาก่อนแต่อย่างใด Rosenthal และ Jacobson เลือกให้เด็กกลุ่มนั้นเป็นกลุ่มทดลอง (experimental group) อย่างไรก็ตามด้วยความที่ครูเหล่านั้นไม่ทราบว่าเด็กร้อยละ 20 ที่ว่านั้นเป็นใครบ้าง แต่เชื่อว่าเด็กนักเรียนเป็นอย่างที่ Rosenthal และ Jacobson บอกไว้แต่แรก จึงปฏิบัติต่อเด็กนักเรียนในห้องนั้นเหมือนกับเป็นเด็กที่มีระดับเชาว์ปัญญาสูงด้วยกันทั้งหมด ปรากฏว่าผลการเรียนของเด็กที่อยู่ในกลุ่มทดลองของ Rosenthal และ Jacobson อยู่ในระดับที่ดี ทั้งยังมีการพัฒนาเชิงพฤติกรรมเป็นที่น่าพอใจอีกด้วย ที่สำคัญเด็กนักเรียนคนอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มทดลองก็มีผลการเรียนอยู่ในระดับที่ดีตามไปด้วยเช่นกัน

การทดลองของ Rosenthal และ Jacobson ที่กล่าวมาข้างต้นเรียกว่า Pygmalion Study ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการที่เด็กนักเรียนสามารถประสบผลสำเร็จทางการเรียนได้นั้น ไม่ได้เกิดจากความสามารถของเด็กโดยลำพัง แต่เป็นผลที่เราเรียกกันว่า collective product ที่เนื่องมาจากการกระทำร่วมกัน (social interaction) ระหว่างครูผู้สอนกับเด็กนักเรียนทุกคน บนพื้นฐานที่ไม่มีการจำแนกความแตกต่างทางสติปัญญาแต่อย่างใด นั่นหมายความว่าที่ผ่านมาการที่เด็กนักเรียนมีผลสัมฤทธิทางการเรียนต่างกัน ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากได้รับการปฏิบัติจากครูที่แตกต่างกันนั่นเอง โดยเชื่อว่าเด็กที่มีเชาว์ปัญญาสูงควรได้รับการปฏิบัติและการถ่ายทอดความรู้แบบหนึ่ง ในขณะที่เด็กที่มีระดับเชาว์ปัญญาต่ำ ก็ควรได้รับอีกแบบหนึ่ง (ผมว่าคล้ายๆ กับโรงเรียนในบ้านเรา ที่ห้องเรียนเด็กเก่งครูก็จะสอนแบบหนึ่ง ขณะที่ห้องเรียนเด็กไม่เก่งครูก็จะสอนอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นผลให้เด็กเก่งก็ยิ่งเก่งมากขึ้น เด็กที่อ่อนก็ยิ่งเรียนแย่ลงๆ เรื่อยๆ นับเป็นตัวอย่างของความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษาโดยแท้) ในทางสังคมวิทยาถือว่าการทดลองครั้งนี้น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีการนำไปโยงกับกรณีความแตกต่างในเรื่องอื่นๆ อย่างเช่น ความแตกต่างทางความเชื่อหรือศาสนา ความแตกต่างทางเชื้อชาติ ความแตกต่างทางชนชั้น และความแตกต่างทางเพศ ฯ โดยกล่าวว่าหากเราไม่ถือเอาความแตกต่างเหล่านั้นเป็นเครื่องจำแนกบุคคล บางทีปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ในสังคมก็อาจไม่เกิดขึ้นรุนแรงอย่างทุกวันนี้

นั่นคือเรื่องที่เล่ากันในตำนาน แต่ที่ผมยกเอาเรื่องนี้มาพูดก็ด้วยเหตุว่าการทดลองดังกล่าวของ Rosenthal และ Jacobson นั้น ได้รับแรงบันดาลส่วนหนึ่งมาจากภาพยนตร์หรือหนังเรื่องหนึ่งนั่นก็คือ My Fair Lady หนังเรื่องนี้ออกฉายครั้งแรกเมื่อปี 1964 นำแสดงโดย Rex Harrison และ Audrey Hepburn กำกับการแสดงโดย George Cukor หนังเริ่มด้วยการพบกันโดยบังเอิญของ Eliza Doolittle (แสดงโดย Hepburn) หญิงสาวขายดอกไม้ผู้ยากจนคนหนึ่ง กับ Henry Higgins (แสดงโดย Harrison) ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางภาษาศาสตร์ ด้วยความที่เป็นหญิงสาวในชนชั้นต่ำกิริยาท่าทาง ตลอดจนภาษาที่เธอใช้และสำเนียงที่เธอพูดจึงถูกจัดว่าเป็นกิริยาท่าทางและภาษาของชนชั้นต่ำ โดยพวกชนชั้นสูงถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง Higgins พนันกับเพื่อนคนหนึ่งที่ชื่อว่าพันเอก Pickering (แสดงโดย Wilfred Hyde-White) ว่าภายในหกเดือนเขาสามารถเปลี่ยนหญิงคนนี้ให้เป็นผู้ดีได้ด้วยวิธีการง่ายๆ โดยการสอนภาษาอังกฤษที่ถูกต้องให้กับเธอ เวลาผ่านไปในหนังมีเหตุการณ์ต่างๆ ที่แสดงถึงการกระทำระหว่างกันระหว่าง Higgins กับ Doolittle ในลักษณะของการขัดเกลาทางสังคม (re-socialization) จนในที่สุด Higgins ก็ทำสำเร็จ เขาสามารถเปลี่ยนหญิงสาวชั้นต่ำที่ใช้ภาษาและสำเนียงที่ไม่เหมาะสม ให้เป็นคนที่พูดจาได้อย่างไพเราะเป็นสำเนียงและภาษาของผู้ดี จากสาวที่มีกิริยาท่าทางที่ไม่เหมาะสมมาเป็นหญิงสาวที่มีท่าทางสง่างามในท่ามกลางสังคมชนชั้นสูง เขาสามารถทำให้คนเชื่อว่าเธอเป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคมไฮโซไซตี้ได้จริงๆ นอกจากฝีมือการแสดงชั้นเยี่ยมของ Harrison กับ Hepburn ตลอดจนบทเพลงอันไพเราะและรางวัลออสการ์เป็นประกันถึง 8 ตัวแล้ว หนังเรื่องนี้ถือว่ามีคุณค่าแก่การศึกษาในทางสังคมวิทยาเป็นอย่างยิ่ง เพราะได้แสดงให้เห็นถึงประเด็นของ Pygmalion Study ได้เป็นอย่างดี หญิงสาวขายดอกไม้ในหนังเปรียบได้กับเด็กนักเรียนในการทดลองของ Rosenthal และ Jacobson ที่กล่าวถึงตอนต้น ความสามารถในการเป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคมคนชั้นสูงเปรียบได้กับสัมฤทธิผลทางการเรียนของเด็กนักเรียนเหล่านั้น ตัวของ Higgins เองก็เปรียบได้กับครูที่เชื่อว่าเด็กนักเรียนในชั้นเป็นเด็กที่มีระดับเชาว์ปัญญาสูง หนังคลาสสิกอย่าง My Fair Lady จึงเป็นหนังที่สามารถตอกย้ำถึงความเชื่อที่ว่าความแตกต่างทางสังคมของบุคคลไม่ใช่อุปสรรคในการบรรลุถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์แต่อย่างใด คนแต่ละคนสามารถพัฒนาจนสามารถไปสู่จุดนั้นได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยผ่านทางกระบวนการเรียนรู้ การขัดเกลาทางสังคม และการขจัดอคติความแตกต่างระหว่างบุคคลทั้งหลายที่มีอยู่ให้หมดไป

คำว่า Pygmalion นำมาจากเรื่องราวในตำนานเทพเจ้าของกรีกและโรมัน คือตามความเชื่อของชาวกรีกและโรมันสมัยโบราณมีการกล่าวถึงปฏิมากรผู้หนึ่งที่มีนามว่า พิกเมเลียน (Pygmalion ตามความเชื่อของพวกกรีกกล่าวว่า พิกเมเลียนก็คือกษัตริย์องค์หนึ่งแห่งไซปรัส) ซึ่งเป็นคนที่เกลียดผู้หญิงเป็นอย่างมาก ถึงกับตั้งปณิธานไว้ว่าชาตินี้จะไม่ขอแต่งงาน อย่างไรก็ตามเขาได้แกะสลักรูปปั้นผู้หญิงขึ้นมาชิ้นหนึ่งซึ่งมีความงดงามมาก จนในที่สุดเขาก็หลงรักรูปปั้นผู้หญิงคนนั้น พิกเมเลียนได้อ้อนวอนต่อเทพอะโฟรไดท์ (Aphrodite) หรือที่เรารู้จักกันดีในนามของเทพวีนัส (Venus) ซึ่งถือกันว่าเป็นเทพแห่งความรัก (Goddess of Love) ขอให้ประทานผู้หญิงให้กับเขาคนหนึ่งที่สวยงามเหมือนกับรูปปั้นหญิงสาวที่เขาปั้นขึ้นมา เทพอะโฟรไดท์ได้รับคำอ้อนวอนและตอบสนองคำขอของเขาโดยการบันดาลให้รูปปั้นนั้นมีชีวิตขึ้นมาจริงๆ และกลายเป็นคนรักของพิกเมเลียน เขาให้ชื่อเธอว่า กาลาเทีย (Galatea) ซึ่งต่อมาก็ให้กำเนิดบุตรชายแก่เขาคนหนึ่งชื่อว่า ปาฟอส (Paphos)

นั่นคือเรื่องที่เล่ากันในตำนาน ซึ่ง George Bernard Shaw นักเขียนรางวัลโนเบลได้เคยนำเอาชื่อ Pygmalion นี้มาสร้างเป็นบทละครในชื่อเดียวกันในปี 1914 เป็นบทละครที่เกี่ยวกับความรัก ชนชั้น และการกดขี่ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน เป็นเรื่องราวของหญิงสาวคนหนึ่งที่มีชีวิตอยู่อย่างไร้คุณค่า ไร้ความหมาย และตกอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ชายอย่างสิ้นเชิง ต่อมา Alan Jay Lerner และ Frederick Loewe ก็นำบทดังกล่าวของ Shaw มาสร้างเป็นบทละครเพลงที่ใช้แสดงบนเวทีบรอดเวย์ บทภาพยนตร์ในหนังเรื่อง My Fair Lady เขียนโดย Alan Jay Lerner ซึ่งดัดแปลงมาจากบทละครของเขาเองกับ Loewe นั่นเอง

ภาพยนตร์หรือหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ Pygmalion Study ไม่ได้มีแต่เฉพาะ My Fair Lady เรื่องเดียว ยังมีอีกหลายเรื่อง หนังที่สร้างความประทับใจและทิ้งคำถามในเชิงปรัชญาการศึกษาไว้ให้กับเราอย่าง Dead Poets Society ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หนังเรื่องนี้นำแสดงโดย Robin Williams, Robert Sean Leonard, Ethan Hawke ฯ เขียนบทโดย Tom Schulman โดยมี Peter Weir เป็นผู้กำกับการแสดง หนังพีเรียดดรามาเรื่องนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในราวปี 1959 ในโรงเรียนเตรียมอุดม Welton Academy ที่มีระบบการเรียนการสอนแบบอนุรักษ์นิยมดั้งเดิม คือเน้นความมีวินัย ความเป็นระเบียบเรียบร้อย การอยู่ในแบบแผนความประพฤติปฏิบัติที่ทางโรงเรียนกำหนด และการติดยึดอยู่กับเนื้อหาในแบบเรียนที่เปรียบเสมือนเป็นคัมภีร์แห่งชีวิต นักเรียนที่เข้าเรียนในโรงเรียนนี้จะถูกคาดหวังจากผู้ปกครองมากว่าจะต้องมีอนาคตที่สดใส จนกระทั่ง John Keating (แสดงโดย Robin Williams) ครูสอนวิชาวรรณคดีคนใหม่เข้ามา บางอย่างเริ่มเปลี่ยนแปลง Keating สอนให้นักเรียนมองโลกในมุมมองที่ต่างออกไป การลุกขึ้นยืนบนโต๊ะเรียนแทนที่จะนั่งเหมือนอย่างปกติเป็นการเริ่มต้นอย่างง่ายๆ Keating ใช้บทกวีเป็นสื่อในการทำให้นักเรียนรู้จักตัวเอง มีความคิดเสรี และกล้าที่จะคิดไม่เหมือนกับคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่เหมือนกับที่คนอื่นคาดหวังเอาไว้ หนังชี้ให้เห็นถึงการบรรลุถึงคุณค่าของมนุษย์โดยการพาตัวเองออกจากกรอบที่คนอื่นและสังคมเป็นคนกำหนด โดยผ่านกระบวนการกระทำระหว่างกันระหว่างครูกับลูกศิษย์ตามทฤษฎีทางสังคมวิทยา Symbolic Interaction (ในทัศนะของผมหนังเรื่องนี้มีพลังและแรงบันดาลใจสูงมาก รวมทั้งเป็นหนังที่ใช้อธิบายทฤษฎี Symbolic Interaction ได้เป็นอย่างดี ไว้ผมจะหาโอกาสเขียนถึงเรื่องนี้โดยละเอียดในโอกาสต่อไป) แม้ว่าในที่สุดจะเกิดโศกนาฏกรรมจากการยิงตัวตายของ Neil (แสดงโดย Robert Sean Leonard) ที่ค้นพบว่าที่จริงแล้วตัวเองปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเป็นนักแสดง ขณะที่พ่อของเขาไม่เห็นด้วยอย่างสิ้นเชิง แต่นั่นก็ไม่สามารถปิดกั้นความคิดเสรี และการบรรลุถึงคุณค่าในตัวเองของนักเรียนที่เป็นสมาชิกของ Dead Poets Society ได้อีกต่อไป การพร้อมใจกันยืนบนโต๊ะเรียนต่อหน้าครูใหญ่เพื่อแสดงออกถึงความรู้สึกผูกพันที่มีต่อครู Keating ที่ถูกไล่ออก ความรู้สึกคัดค้านต่อการตัดสินใจของ Mr. Nolan ครูใหญ่ และความรู้สึกที่มีต่อระบบการศึกษาของโรงเรียนที่ครอบงำความคิดของนักเรียนในตอนท้ายของเรื่องนั้น นับเป็นฉากที่มีพลังที่ยืนยันถึงแบบจำลองแนวคิดในเรื่อง Pygmalion Study ได้เป็นอย่างดี

ในทางวิชาการสังคมวิทยาปัจจุบัน คำว่า Pygmalion Study จึงหมายถึงการศึกษาใดๆ ก็ตามที่ชี้ให้เราเห็นว่าการบรรลุถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ การมองเห็นคุณค่าในตัวเองนั้น เป็นผลมาจากการกระทำระหว่างกันในสังคม มากกว่าที่จะเป็นคุณลักษณะที่ติดตัวเรามาแต่กำเนิด ความแตกต่างทางสังคมของบุคคลนอกจากจะเป็นอุปสรรคในการแสวงหาคุณค่าในตัวเองแล้ว ยังเป็นอุปสรรคสำคัญของมนุษย์ในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในโลกใบนี้ การอธิบายเรื่องอย่างนี้ในเชิงวิชาการไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การอธิบายโดยใช้ภาพยนตร์หรือหนังเป็นสื่อกลับทำให้เรารู้สึกถึงความหมายเหล่านั้นได้ไม่ยาก หนังจึงไม่ได้มีไว้เพื่อความบันเทิงแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นสิ่งที่เต็มไปด้วยความหมายของชีวิตที่รอให้เราทุกคนเข้าไปแสวงหาร่วมกัน

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ11/4/56

    ผมเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาย่อมมีความแตกต่างในศักยภาพ แต่ความต่างกันในศักยภาพภาพไม่ได้หมายความว่า ดีว่า ด้อยกว่า เหนือกว่า เก่งกว่า ฯลฯ หากหมายถึงความถนัด ความชอบ และพื้นฐานความสามารถในเรื่องที่แตกต่างกันไป รวมทั้งพื้นเพของอารมณ์นิสัยใจคอด้วย การที่มนุษย์ยอมรับความต่างจะทำให้สามารถบรรลุถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ได้ ผมคิดว่าระบบการศึกษาของเราสร้างปมด้อยให้กับเด็กเพราะไม่สามารถให้เด็กเห็นความแตกต่างเพื่อค้นพบศักยภาพของตนเอง ปรากฏการณ์สะท้อนที่เห็นได้ชัดคือการบูชาความสำเร็จและยอมรับการแข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตาย แม้จะเบื่อแค่ไหน แม้จะเหนือยอย่างไร เราก็ยังคงวิ่ง วิ่งโดยไม่รู้ว่าเป้าหมายปลายทางดังกล่าวจะมอบความสุขและคุณค่าในชีวิตแก่เราอย่างไร

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ30/11/66

    พึ่งได้มาอ่าน ชอบมากค่ะ ขอบคุณที่เขียนขึ้นมานะคะ

    ตอบลบ