วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ชีวิต ครอบครัว และความงามใน American Beauty

ตอนที่หนังเรื่อง American Beauty เข้ามาฉายในเมืองไทยผมไม่มีโอกาสได้ดู เนื่องจากติดธุระโน่นธุระนี่ไปตามเรื่อง พอนึกตั้งใจจะไปดูปรากฎว่าหนังออกไปแล้ว ก็ได้แต่ติดตามภายหลังว่าหนังประสบความสำเร็จมากทั้งในด้านรายได้และรางวัล โดยได้ออสการ์ถึง 5 ตัวจากผู้แสดงนำฝ่ายชายยอดเยี่ยม ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม ถ่ายภาพยอดเยี่ยม และที่สำคัญคือเป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี นอกจากนั้นก็ยังได้รับรางวัลต่างๆ อีกมากมายจากสถาบันต่างๆ หลายแห่ง หนังเรื่องนี้กำกับโดย แซม เมนเดส นำแสดงโดย เควิน สเปซี่, แอนเน็ต เบนนิ่ง, ธอร่า เบิร์ช, เวส เบนท์เล่ย์, และมีนา ซูวารี ฯลฯ เขียนบทโดย อลัน บอล นักวิจารณ์ต่างให้คำชมกับหนังเรื่องนี้มาก ผมลองเปิดเข้าไปดูในเว็บไซต์ต่างๆ ที่เปิดให้มีการโหวต ก็พบว่าหนังเรื่องนี้ได้รับการโหวตเป็นหนังระดับห้าดาวทุกเว็บไซต์ และยิ่งอ่านจากบทความต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวิจารณ์หนังก็ยิ่งทำให้อยากดูหนังเรื่องนี้มากยิ่งขึ้นไปอีก

พอได้ดีวีดีมาดูผมก็รู้สึกว่า American Beauty เป็นหนังที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่สำคัญของการดำเนินชีวิตในครอบครัวได้เป็นอย่างดี ไม่แต่เฉพาะครอบครัวอเมริกัน ผมว่าสิ่งที่หนังสะท้อนนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในครอบครัวในแทบทุกวัฒนธรรมรวมทั้งสังคมไทยของเรา ชื่อหนังแปลได้ว่าความงามแบบอเมริกัน ผมจึงเกิดความสงสัยแต่แรกว่าอะไรคือความงามแบบอเมริกัน ความงามแบบอเมริกันหมายถึงอะไร ดูไปจนจบเรื่องถึงได้คำตอบกับตัวเองว่า อ้อนี่เองความงามแบบอเมริกัน ไว้ตอนท้ายผมจะเฉลยไม่รู้ว่าจะตรงกับคำตอบของผู้อ่านหรือเปล่า ตอนนี้มาลองดูกันว่าหนังเรื่องนี้มีมิติในทางสังคมวิทยาที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง

ประเด็นทางด้านสังคมวิทยาที่หนังสะท้อนออกมาได้ชัดก็คือเรื่องของสถาบันครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการขัดเกลาทางสังคม (socialization) ในทางสังคมวิทยาถือว่าครอบครัวเป็นสถาบันสังคมที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนอกจากจะเป็นสถาบันสังคมแห่งแรกของมนุษย์แล้ว ยังเป็นสถาบันสังคมที่มีบทบาทสำคัญในการอบรมให้สมาชิกได้เรียนรู้ระเบียบสังคม และได้รับการถ่ายทอดวัฒนธรรมโดยผ่านทางกระบวนการสำคัญที่เรียกว่ากระบวนการขัดเกลาทางสังคม กระบวนการดังกล่าวมีเป้าหมายสำคัญในการหล่อหลอมบุคลิกภาพของบุคคลให้เป็นไปตามที่สังคมต้องการ สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข อย่างไรก็ตามสถาบันสังคมที่ทำหน้าที่ในการอบรมให้เรียนรู้ระเบียบของสังคม หรือการขัดเกลาทางสังคมนั้นไม่ได้มีแต่เพียงครอบครัวเท่านั้น ยังมีกลุ่มเพื่อน โรงเรียน กลุ่มอาชีพ หรือแม้แต่สื่อมวลชน ที่ทำหน้าที่ในการขัดเกลาทางสังคมด้วย แต่ด้วยความที่ครอบครัวเป็นสถาบันสังคมแห่งแรกของมนุษย์ ประกอบกับการอบรมให้บุคคลได้เรียนรู้ระเบียบแบบแผนของสังคมในช่วงวัยเยาว์มีความสำคัญ ดังนั้นจึงถือได้ว่าครอบครัวนี่เองที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในสังคม

โดยปกติครอบครัวจะประกอบไปด้วย พ่อ แม่ ลูก และอาจจะมีเครือญาติอื่นอยู่ร่วมด้วยก็ได้ ดังนั้นในครอบครัวจึงประกอบไปด้วยแบบแผนความสัมพันธ์ในหลายลักษณะ เช่น แบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างสามีกับภรรยา แบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูก/แม่กับลูก แบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างพี่กับน้อง ตลอดจนแบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างปู่ย่า/ตายาย ลุงป้าน้าอา กับลูกหลาน ฯ แบบแผนความสัมพันธ์เหล่านี้เองที่มีผลต่อการอบรมขัดเกลาทางสังคมที่กล่าวถึงข้างต้น หากแบบแผนความสัมพันธ์เหล่านี้เป็นไปด้วยดี กระบวนการขัดเกลาทางสังคมก็สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ซึ่งช่วยให้เรามั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าสมาชิกในครอบครัวนั้นย่อมจะต้องมีบุคลิกภาพที่ดี ได้เรียนรู้ระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ของสังคม สามารถมีชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข แต่ถ้าแบบแผนความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่ดีมีปัญหา การขัดเกลาทางสังคมก็ย่อมเกิดปัญหาตามไปด้วย ซึ่งจะเป็นผลทำให้สมาชิกในครอบครัวนั้นเป็นบุคคลที่มีปัญหาทั้งในด้านบุคลิกภาพ และพฤติกรรมในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม เราจะเห็นได้ว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติด ปัญหาความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม ปัญหาอาชญากรรม ฯลฯ หากลองสืบสาวลงไปถึงที่มาหรือจุดเริ่มต้นของปัญหาเหล่านั้น ก็จะพบว่าทั้งหมดล้วนแล้วแต่มาจากครอบครัว มาจากพื้นฐานการได้รับขัดเกลาทางสังคมทั้งสิ้น

คำถามก็คือว่าแล้วการอบรมขัดเกลาทางสังคมที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร ยกตัวอย่างกรณีแบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก ก็คือว่าพ่อแม่ควรเข้าใจความต้องการของลูก ให้ความสนใจต่อปัญหาของลูกไม่ว่าจะเป็นปัญหาอะไรก็ตาม ให้ความรักความอบอุ่นแก่ลูกอย่างเพียงพอ ต้องทำให้ลูกตระหนักได้ว่าเขาสามารถพึ่งพาพ่อแม่ได้อย่างแท้จริง พ่อแม่ต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในครอบครัว ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูก เปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความคิดเห็น ปลูกฝังให้ลูกรู้จักหน้าที่และความรับผิดชอบ เป็นต้น

ในหนังเราจะเห็นได้ว่ามีครอบครัวที่เป็นหลักในการดำเนินเรื่องอยู่ 2 ครอบครัว นั่นก็คือครอบครัวของ เลสเตอร์ เบอร์นัม (แสดงโดย เควิน สเปซี่) กับครอบครัวของผู้พันฟิทซ์ (ซึ่งแสดงโดย คริส คูเปอร์) เลสเตอร์แต่งงานอยู่กินกับแคโรไลน์ (แสดงโดย แอนเน็ต เบนนิ่ง) มากว่า 20 ปี มีลูกด้วยกันหนึ่งคนคือ เจน (แสดงโดย ธอร่า เบิร์ช) ในหนังชี้ให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างเลสเตอร์กับแคโรไลน์นั้นมีปัญหา ตัวเลสเตอร์กำลังตกอยู่ในช่วงวิกฤติของชีวิตคือเริ่มรู้สึกเบื่อทุกสิ่งทุกอย่าง รู้สึกเย็นชากับสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัว งานและครอบครัวไม่มีความหมายใดๆ กับชีวิตอีกต่อไป คำพูดของแองเจล่า (แสดงโดย มีนา ซูวารี) เพื่อนของเจนที่พูดถึงเลสเตอร์ช่วยให้คนดูเข้าใจสถานการณ์ระหว่างเลสเตอร์กับแคโรไลน์ได้ดี คือจากสายตาที่เลสเตอร์มองแองเจล่า ทำให้แองเจล่าบอกกับเจนทันทีว่าเลสเตอร์กับแคโรไลน์นั้นไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางเพศด้วยกันมาตั้งนานแล้ว ฉากรับประทานอาหารในบ้านที่เลสเตอร์นั่งอยู่ด้านหนึ่ง แคโรไลน์นั่งอยู่อีกด้านหนึ่งตรงข้ามกันนั้นบอกถึงระยะทางสังคม (social distance) ระหว่างคนสองคนที่นับวันจะยิ่งห่างกันออกไปได้เป็นอย่างดี พฤติกรรมการแสดงออกของแคโรไลน์ที่มักจะคอยบงการสามีให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ก่อให้เกิดความเบื่อหน่ายกับเลสเตอร์อย่างเห็นได้ชัด ตัวแคโรไลน์เองให้ความสำคัญอย่างมากกับธุรกิจที่เธอทำอยู่และความสำเร็จทางวัตถุในชีวิต เธอพยายามทำทุกอย่างเพื่อไปให้ถึงจุดนั้น เธอพยายามแสดงให้คนอื่นเห็นว่าตัวเธอสามารถที่จะควบคุมสิ่งต่างๆ ในชีวิตของเธอได้เป็นอย่างดี แต่แท้ที่จริงชีวิตเธอว่างเปล่า ความสัมพันธ์หวานชื่นที่เธอเคยมีกับเลสเตอร์มันหายไปนานแล้ว จนเมื่อเธอพบกับบัดดี้ (แสดงโดย ปีเตอร์ กัลลาเกอร์) เธอก็พยายามคว้าไว้โดยหวังว่ามันจะช่วยทดแทนสิ่งที่เธอทำหายไปได้ โดยส่วนลึกแล้วแคโรไลน์เป็นคนที่สิ้นหวังกับชีวิต ความคับแค้นสิ้นหวังในตัวเธอทั้งหมดระเบิดออกเมื่อเลสเตอร์พบว่าเธอไปมีความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาวกับบัดดี้ ฉากที่เธอออกจากรถเดินร้องไห้เข้ามาในบ้านเป็นฉากที่ทำให้เราเข้าใจความรู้สึกในส่วนลึกของเธอได้ดี

ตัวเลสเตอร์เองนั้นอย่างที่บอกแล้วว่าอยู่ในช่วงวิกฤติของชีวิต ในภาษาอังกฤษเรียกว่า mid-life-crisis ซึ่งมักจะเกิดกับคนที่อยู่ในช่วงอายุประมาณ 40-50 ปี คือเริ่มรู้สึกว่าตัวเองหาความหมายอะไรในชีวิตไม่ได้อีกต่อไป เหนื่อยหน่ายกับชีวิต ไม่รู้ว่าตัวเองจะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร ความสัมพันธ์กับภรรยาก็มีแต่จะแย่ลง การงานก็มีปัญหา ลูกก็ดูเหมือนเป็นคนแปลกหน้า ไม่ค่อยได้มีโอกาสพูดคุยกันสักเท่าไร นับวันก็ยิ่งห่างเหินกันมากยิ่งขึ้น พฤติกรรมที่เลสเตอร์แสดงออกนั้นชี้ให้เห็นถึงอาการที่เริ่มต่อต้านสังคม เขาไม่สนใจว่าจะต้องรักษาหน้าตาของภรรยาตนเองต่อหน้าคนอื่นแต่อย่างใด เขาไม่สนใจว่าจะต้องออกจากงาน โดยกลับต้องไปทำงานเป็นพนักงานบริการในร้านฟ้าสต์ฟู้ด เขาไม่จำเป็นต้องทนกับภรรยา กับลูก รวมทั้งกับเจ้านายในที่ทำงานอีกต่อไป พฤติกรรมแสดงออกยามที่เขาจับได้ว่าภรรยามีชู้ ชี้ให้เห็นได้ดีถึงอาการชิงชังกับชีวิตสมรส เขาเพียงแต่กำลังค้นหาคำตอบว่าชีวิตต่อไปของเขานั้นจะเป็นอย่างไร เขาได้มาพบกับริกกี้ (ลูกของผู้พันฟิทซ์) ที่ช่วยให้เขามีความกล้ามากขึ้นที่จะหาทางออกในเรื่องการงาน และได้มาพบกับแองเจล่า ซึ่งทำให้เขามีความรู้สึกว่าดูเหมือนเขากำลังพบกับคำตอบที่ตัวเองกำลังมองหาอยู่ แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ไม่ใช่

ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับเลสเตอร์และแคโรไลน์กลับกลายเป็นสิ่งที่เจนต้องเผชิญและแบกรับ ใครที่ดูหนังเรื่องนี้แล้วคงจำฉากรับประทานอาหารในครอบครัวเบอร์นัมได้ดีว่าวิกฤติทั้งหลายที่สั่งสมมาในครอบครัวนี้รวมมาลงที่ตัวเจนคนเดียว ผู้กำกับนำเสนอฉากนี้หลายครั้งก็เพื่อที่จะยืนยันว่าคนที่ต้องรับกรรมที่พ่อแม่ร่วมกันสร้างก็คือลูกนั่นเอง โต๊ะอาหารตัวยาวที่มีพ่อนั่งอยู่ปลายด้านหนึ่ง แม่นั่งอยู่ที่ปลายอีกด้านหนึ่ง โดยมีเจนนั่งอยู่ตรงกลาง เป็นภาพที่แสดงถึงความเหินห่างของสมาชิกในครอบครัว แสดงถึงการเผชิญหน้าและความขัดแย้งระหว่างพ่อกับแม่ที่มีลูกอยู่ตรงกลาง เป็นภาพที่แสดงถึงความคับข้องใจของเจนที่ต้องทนมีชีวิตอยู่ในครอบครัวของเธอเองได้เป็นอย่างดี ทุกครั้งที่ทั้งพ่อและแม่พยายามที่จะพูดจากันดีๆ ก็ไม่เคยสำเร็จสักครั้ง ทุกครั้งต้องลงเอยด้วยการทะเลาะมีปากเสียงกันเสมอ แคโรไลน์นั้นพยายามที่จะแสดงให้เห็นว่าเธอนั้นยังแคร์ความรู้สึกของเจน จึงชวนให้เลสเตอร์ไปชมการแสดงของเธอที่โรงเรียน แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ความสัมพันธ์ของพ่อแม่ลูกดีขึ้นสักเท่าไร เพราะทั้งพ่อและแม่ไม่ได้ตั้งใจจริงที่ไปดูลูกแสดง กลับเป็นเรื่องที่เสียไม่ได้มากกว่า ครอบครัวแบบนี้แม้ว่าลูกจะเป็นศูนย์กลางของครอบครัวก็ตาม (ดูจากฉากที่โต๊ะอาหาร) แต่ความเป็นศูนย์กลางของเจนไม่ใช่ศูนย์กลางของความรักความอบอุ่นจากพ่อและแม่ กลับกลายเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งระหว่างพ่อกับแม่ ที่ต่างฝ่ายต่างก็โยนทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความไม่พอใจ ความห่างเหิน ความเครียด ฯ ลงมาที่ลูกอย่างที่เห็น แต่ไม่เคยโยนความรักความเอาใจใส่มาให้แม้แต่น้อย สังคมที่แต่ละคนต่างต้องทำงานเพื่อหาเงินที่คนบางคนเชื่อว่ามันคือพระเจ้าที่บันดาลทุกสิ่งได้ พ่อแม่จึงมักไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่ลูก ความหมายของลูกที่พ่อแม่เข้าใจก็คือ ภาระที่สลัดอย่างไรก็ไม่มีวันออก เด็กที่เติบโตในครอบครัวแบบนี้จึงเป็นเด็กที่มีปัญหามาก จะเป็นคนที่ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง เก็บกด มีความรู้สึกไร้ความหวัง หดหู่ ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง บุคลิกของเจนจึงเต็มไปด้วยคับข้องใจ ความสับสน ไร้ที่พึ่ง รวมทั้งไม่มีความภูมิใจในตัวเองและครอบครัวแม้แต่น้อย ยิ่งเธอเป็นคนที่ในสายตาคนทั่วไปออกจะเชยหรือไม่ใช่คนสวยเมื่อเทียบกับแองเจล่าด้วยแล้ว ชีวิตของเธอก็ยิ่งไร้ความหมายมากขึ้นเท่านั้น

ส่วนครอบครัวของผู้พันฟิทซ์ค่อนข้างตรงกันข้ามกับของเลสเตอร์ แต่ที่เหมือนกันอย่างหนึ่งก็คือ การเลี้ยงดูลูกทั้งสองครอบครัวล้วนแต่ทำให้ลูกของตนเองมีปัญหาทั้งสิ้น ลูกชายของผู้พันฟิทซ์คือริกกี้ (แสดงโดย เวส เบนท์เล่ย์) ภาพที่ปรากฎในหนังทำให้เรารู้ว่าตัวผู้พันฟิทซ์นั้นเป็นทหารที่ค่อนข้างเคร่งครัดในระเบียบวินัยเป็นอย่างมาก ยิ่งเป็นนาวิกโยธินด้วยแล้วก็ยิ่งทำให้พอจะเดาได้ว่าชีวิตของการเป็นทหารคงผ่านความยากลำบากมาอย่างโชกโชน บุคลิกการแสดงออกของผู้พันไม่ว่าจะเป็นกิริยาท่าทาง วาจาคำพูด การแต่งกาย และสายตาที่มองริกกี้ลูกชายของตัวเอง ล้วนแต่เต็มไปด้วยความเคร่งครัดในระเบียบวินัยที่ตัวเขาเองเชื่อมั่นว่าเป็นสิ่งที่จะช่วยหล่อหลอมให้ลูกของเขามีบุคลิกภาพที่พึงประสงค์ ท่าทางและสายตาที่ฟิทซ์มีต่อคนอื่นๆ ในสังคมก็เต็มไปด้วยความไม่ไว้วางใจ ไม่เปิดโอกาสให้ใครก็ตามเข้ามามีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตครอบครัวของเขา การปฏิบัติตนของเขาในครอบครัวต่อภรรยาและลูกเป็นแบบอย่างที่ดีของการใช้อำนาจ ทุกสิ่งทุกอย่างในครอบครัวรวมทั้งการดำเนินชีวิตของสมาชิกครอบครัวต้องเป็นไปตามที่เขากำหนด การตรวจปัสสาวะของริกกี้ทุกหกเดือนเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นบุคลิกที่มีลักษณะอำนาจนิยมในตัวของเขาได้เป็นอย่างดี ภรรยาและลูกของผู้พันฟิทซ์มีสภาพไม่ต่างอะไรกับบริวารหรือผู้ใต้บังคับบัญชาในครอบครัวเท่านั้นเอง บรรยากาศภายในบ้านจึงมีแต่ความเงียบสงัด เป็นความเงียบสงัดที่กัดกร่อนชีวิตคนที่อยู่ร่วมกันไปทีละน้อยๆ ฉากที่ภรรยาของฟิทซ์นั่งเหม่อลอยอยู่คนเดียวในบ้าน โดยไม่รับรู้ต่อสิ่งรอบข้างแม้ว่าริกกี้จะพาเพื่อนสาวมาพบ เป็นฉากที่บอกกับเราคนดูได้ดีว่าคนในบ้านหลังนี้ตายไปหมดแล้ว ฉากนั่งดูโทรทัศน์ของฟิทซ์กับภรรยาบนโซฟาที่ริกกี้เข้ามานั่งร่วมด้วยเมื่อกลับมาบ้าน เปรียบได้กับฉากที่โต๊ะอาหารในบ้านของเลสเตอร์ เพียงแต่ถ้าเราสังเกตให้ดีก็จะเห็นว่าที่โซฟานั้นตัวผู้พันจะนั่งอยู่ตรงกลางโดยมีริกกี้นั่งอยู่ห่างออกไปด้านหนึ่ง และภรรยาของเขาอยู่อีกด้านหนึ่ง ทั้งนี้แต่ละคนต่างไม่ได้สนใจซึ่งกันและกันเลยแม้แต่น้อย ในขณะที่โต๊ะอาหารที่บ้านเลสเตอร์เราจะเห็นเจนนั่งตรงกลาง โดยมีพ่อกับแม่นั่งอยู่คนละด้านห่างออกไป ผมมีความรู้สึกว่าเป็นการเปรียบเทียบที่น่าสนใจทีเดียว สำหรับครอบครัวของริกกี้ ฟิทซ์คือศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่างนั่นเอง

ริกกี้เป็นตัวอย่างของวัยรุ่นที่ถูกกรอบแห่งระเบียบกฎเกณฑ์รัดเอาไว้จนกระดิกไปไหนไม่ได้ สิ่งที่หนังพยายามบอกก็คือความเคร่งครัด ความเข้มงวดไม่ใช่หลักประกันที่จะช่วยให้คนอยู่ในระเบียบวินัยได้เสมอไปโดยเฉพาะวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่ต้องการความเป็นตัวของตัวเอง ต้องการการแสดงออก ในทางทฤษฎีการเลี้ยงลูกแบบเน้นระเบียบวินัยเน้นกฎเกณฑ์ในการประพฤติปฏิบัติที่เคร่งครัด มักก่อให้เกิดปัญหากับตัวเด็กเองเสียเป็นส่วนใหญ่ เรามักพบว่าเด็กที่ถูกเลี้ยงในสภาพครอบครัวแบบนี้ส่วนหนึ่งจะมีบุคลิกชอบเก็บตัว ชอบสร้างโลกส่วนตัวของตนเองโดยลำพัง ไม่ชอบการถูกพันธนาการไม่ว่าจะด้วยในเรื่องใดก็ตาม บางครั้งจะเป็นคนที่ไม่เคารพกฎเกณฑ์ของสังคม จะมีพฤติกรรมตอบสนองความต้องการของตนเองโดยไม่สนใจต่อความถูกต้องหรือการยอมรับของสังคม บุคลิกของริกกี้ในหนังก็ค่อนข้างจะมีลักษณะเช่นนั้น เขาเป็นคนที่ชอบอยู่คนเดียว การแอบถ่ายวิดีโอพฤติกรรมของคนอื่นเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมตอบสนองความต้องการของตนเอง โดยไม่เคารพสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่นได้เป็นอย่างดี กฎระเบียบต่างๆ ที่พ่อของเขาวางไว้ไม่ได้มีความหมายต่อริกกี้เลย เขากลายเป็นคนขายยาเสพติด เขาแอบเข้าไปในห้องและหยิบของที่พ่อของเขาห้ามไว้ เขาแอบเอาปัสสาวะของเพื่อนแทนของตัวเองเพื่อให้พ่อไปตรวจ สิ่งที่น่าสนใจสำหรับตัวละครอย่างริกกี้ก็คือ สิ่งที่เราเรียกว่า กลวิธานในการป้องกันตนเอง (defense mechanism) ที่เขาเรียนรู้มาจากพฤติกรรมของพ่อ ในหนังเราจะเห็นได้ว่าทุกครั้งที่ริกกี้ถูกจับได้ว่าไม่ทำตามที่พ่อกำหนดและถูกพ่อลงโทษโดยการเข้าทำร้ายร่างกาย ริกกี้จะแสดงออกคล้ายกับพฤติกรรมของทหารในบังคับบัญชาของพ่อ คือยอมรับในความผิดของตนเองในทันที ยืนยันความผิดของตนเองต่อหน้าพ่อ โดยไม่มีการตอบโต้ใดๆ ทั้งสิ้น

หนังนำเสนอภาพสะท้อนของสังคมได้ดี ทุกสิ่งทุกอย่างในหนังไม่ใช่เรื่องในความคิดหรือเรื่องในจินตนาการ แต่เป็นความจริงที่เกิดขึ้นที่บ้านของเราเอง เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับชุมชนที่เราอาศัยอยู่ทุกวัน ลองสำรวจดูเถิดครับบางทีเราอาจลืมไปแล้วว่าเราเองก็กำลังเลี้ยงลูกแบบนี้อยู่เหมือนกัน ถามว่าปัญหาอย่างที่เกิดในหนังมีทางออกหรือไม่ ผมขอย้ำว่าทางออกนะครับไม่ใช่ทางแก้ เพราะปัญหาที่สั่งสมมาขนาดนั้นมันแก้ได้ยาก และหากจะแก้ได้คงต้องใช้เวลามาก มากเสียจนบางครั้งเราเองอาจเกิดความรู้สึกล้าและในที่สุดอาจกลับไปมีพฤติกรรมอย่างที่เคยเป็นมาอีกก็ได้ ผมว่าต้องเป็นทางออก เพราะตัวละครทุกคนในหนังนั้นต่างมาถึงทางตันที่ไม่รู้ว่าจะเดินไปทางไหนดี และในหนังเองก็เสนอทางออกเอาไว้แล้ว ความงามไงล่ะครับ อย่างที่ชื่อหนังบอกไว้ว่าเป็นความงามแบบอเมริกัน (ความจริงความงามที่ว่านี้ไม่จะเป็นไทย จีน อเมริกัน ฯ ไม่ต่างกันหรอกครับ) ความงามที่ว่านี้มีมากกว่าหนึ่งขึ้นอยู่กับตัวละคร

ความงามในแบบของเจนคืออะไรก็คือ การยอมรับจากคนอื่นนั่นเอง เจนนั้นเป็นเด็กที่ไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่มีความภาคภูมิใจในตัวเอง การคบหาสมาคมกับแองเจล่าที่สวยกว่า ทำให้เธอรู้สึกว่าตัวเธอนั้นไม่มีความหมาย เธอไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อน เธอไม่ได้รับความรักจากพ่อและแม่ แต่พอเธอมาพบกับริกกี้ที่มีความรู้สึกที่ดีต่อเธอ พูดคุยด้วยเสมือนหนึ่งเป็นคนที่เข้าใจความรู้สึกเธอ ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอไม่เคยได้รับจากพ่อกับแม่มานานมากแล้ว ความรู้สึกว่าตัวเธอนั้นก็มีความหมายต่อคนอื่นจึงเกิดขึ้น เป็นความรู้สึกที่ดีที่ริกกี้กับเจนมีต่อกัน ความงามจึงเริ่มปรากฏขึ้นในสายตาของเจนในที่สุด

สำหรับริกกี้ความงามของเขาก็คือ ความเป็นอิสระความเป็นตัวของตัวเอง จากสภาพในครอบครัวที่เขาต้องเผชิญทำให้เขาให้คุณค่ากับอิสรภาพค่อนข้างมาก ภาพถุงที่ลอยไปมาท่ามกลางกระแสลมพัดอ่อนๆ ที่เขาฉายวิดีโอให้เจนดูในห้อง และบอกกับเจนว่านี่คือสิ่งที่สวยงามที่สุดที่เขาเคยบันทึกเอาไว้ เป็นฉากที่ยืนยันถึงความงามในแบบของริกกี้ได้เป็นอย่างดี

แต่ทั้งความมีอิสะและการยอมรับจากคนอื่นก็ยังไม่ถือว่าเป็นความงามที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าความงามในแบบของเลสเตอร์ หากเราลองเอาวิดีโอหนังเรื่องนี้มาเปิดดูใหม่ก็จะพบว่า เลสเตอร์มักจะเหลือบมองภาพตัวเขา ภรรยาและลูกที่ถ่ายร่วมกันไว้ รวมทั้งยังระลึกถึงภาพเหตุการณ์ในครั้งที่ผ่านมาเมื่อสมัยที่เจนยังเล็กๆ อยู่เสมอ เป็นภาพที่มองหรือนึกถึงทีไรก็เป็นความสุขทุกครั้ง แม้ในช่วงเวลาที่เขาคิดว่าเขาค้นพบคำตอบแล้วจากการที่ได้พบกับแองเจล่า ที่ทำให้ความรู้สึกกระชุ่มกระชวยอยากเป็นหนุ่มกลับมาใหม่ ถึงกับลงทุนฟิตร่างกายให้ดูดีในสายตาของแองเจล่า แต่นั่นก็ไม่ใช่คำตอบที่แท้จริง เพราะความงามที่แท้จริงของเลสเตอร์ก็คือครอบครัวที่มีความสุขความอบอุ่นนั่นเอง มันไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะสำคัญมากไปกว่าความสุขของครอบครัวที่ประกอบไปด้วยพ่อแม่ลูกอีกแล้ว งาน ความสำเร็จ เงินทอง ล้วนไม่มีความหมายใดๆ ทั้งสิ้นหากทุกคนที่อยู่ร่วมกันในครอบครัวไม่มีความรัก ความห่วงใย และความเอื้ออาทรต่อกันอีกต่อไป ยิ่งเราห่างเหินกันมากเท่าไร เราก็ยิ่งใกล้กับความล้มเหลวในชีวิตมากเท่านั้น ผมว่าเราไม่ต้องไปเสียเวลาแสวงหาความงามที่ไหนหรอกครับ เพราะมันอยู่ในครอบครัวในบ้านของเราทุกคนนั่นเอง

5 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ17/2/55

    เยี่ยม
    ตกลงพ่อของริคกี้เป็นไบหรอ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ17/6/55

    ภาพยนตร์ เรื่องนี้ดี และเสนอคุณค่า มุมมองที่ลึกซึ้งมากกว่าคำวิจารณ์(ที่ผิวเผิน)นี้มาก

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ3/2/56

    The previous comment is too shallow
    You don't have guts
    shame to insult people this way ...low way

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ11/4/56

    หนังเรื่องนี้ผมยังไม่ได้ดู แต่จากที่เล่ามาแสดงให้เห็นถึงความยากลำบากในในการใช้ชีวิตคู่เป็นอย่างมาก แน่นอนครับการที่คู่ครอง(พ่อ/แม่)มีปัญหากัน ผลกรรมย่อมตกแก่ลูก ผมเห็นว่าสภาพสังคมปัจจุบันทำให้เราประคองชีวิตคู่ลำบาก และสามารถคาดหวังได้น้อยมากว่าลูกเราจะเติบโตขึ้นเป็นเช่นไร คงต้องหาหนังเรื่องนี้มาดูน่ะครับ ว่าหนังมีความลุ่มลึกอย่างไร

    ตอบลบ
  5. ขอบคุณมากๆครับสำหรับคำอธิบายแบบลึกซึ้งมากๆครับ คุณคือความ งดงาม และก็ผู้สร้างสรรคเรื่องนี้ก็ด้วย -3- ผมบอกเลย แนะนำ จริงๆ ครับ สำหรับคนยังไม่ได้ดู อย่าพลาดเลยทีเดียว ความคิดผมนะ ไม่อยากจะลืมเรื่องนี้อะบอกตรง ชอบมาก รักเลย ผมให้ 10/10 เลย มี5 ดาว ให้ 10 ดาว 55555 ^^

    ตอบลบ