วันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

สัญลักษณ์ใน The Wizard of Oz

คงมีหลายคนที่อาจคิดว่าทำไมเราต้องเพียรพยายามที่จะอธิบาย หรือหาความหมายต่างๆ นานาที่เราคิดว่ามันมีอยู่ในหนังแต่ละเรื่อง หนังคือความบันเทิง หนังคือเรื่องราวที่เกิดขึ้นและสิ้นสุดในตัวของมันเอง คำอธิบายตลอดจนบทสรุปต่างๆ มีอยู่แล้วในหนัง ฉะนั้นเข้าไปนั่งดูให้สนุกอย่าซีเรียสกับมันจนเกินไปนัก มันจะอะไรกันนักหนาก็แค่หนังเรื่องหนึ่งเท่านั้นเอง ผมเองเคยคิดอย่างนี้เหมือนกันครับ ชีวิตข้างนอกไม่ว่าจะในครอบครัวหรือในที่ทำงานมันก็เครียดพออยู่แล้ว พอมีเวลาว่างไปดูหนังก็น่าจะใช้ไปเพื่อการผ่อนคลายน่าจะเหมาะสมกว่า เห็นด้วยครับ เห็นด้วยอย่างยิ่งเลย แต่ไม่รู้สิครับพอเราดูหนังมากขึ้นๆ ก็เริ่มรู้สึกว่าหนังไม่ได้มีความหมายแต่เฉพาะที่เราเห็นในจอเท่านั้น มันยังมีความหมายที่ซ่อนอยู่อีกมากมายชวนให้เราคิด แน่นอนครับว่าเราไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนคนอื่นหรือคิดเหมือนเหมือนกันไปหมด ซึ่งที่จริงแล้วก็ไม่ควรจะเป็นอย่างนั้นด้วย แต่ยิ่งหลากหลายความคิดก็ยิ่งทำให้เราเข้าใจหนังเรื่องนั้นดียิ่งขึ้น และแน่นอนครับยิ่งหลากหลายความคิด ยิ่งทำให้เราเข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆ ในสังคมที่เราอาศัยอยู่ได้ดียิ่งขึ้นเช่นกัน ที่สำคัญการที่เราคิดนี่แหละครับเป็นสิ่งที่พิสูจน์กันในทางปรัชญาว่า เรานั้นมีตัวตนอยู่จริงในโลกนี้ ดังคำที่ เดส์การ์ต (Rene Descartes) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสว่าไว้ว่า “Cogito, ergo sum” ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “I think, therefore I am.” แปลง่ายๆ ครับว่า “เพราะฉันคิด ฉันจึงมีอยู่” ดังนั้นผมอยากชวนให้ทุกท่านลองดูหนังแล้วคิด คิดให้เยอะๆ ครับแล้วหากมีโอกาสลองแลกเปลี่ยนเป็นประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เพราะว่าหากเราเชื่อตามที่เดส์การ์ตว่าไว้ ยิ่งเราใช้ความคิดมากเท่าไร เราก็ยิ่งมีชีวิตอยู่จริงมีชีวิตอยู่อย่างมีความหมายในโลกนี้มากเท่านั้น

หนังหลายต่อหลายเรื่องท้าทายความคิดของเรามาก เพราะตลอดทั้งเรื่องเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ มากมาย ซึ่งเราต้องแปลสัญลักษณ์เหล่านั้นให้เป็นความหมาย (symbolic interpretation) จึงจะสามารถเข้าใจสิ่งที่ซ่อนอยู่ในหนังเรื่องนั้น (ผมเคยลองสังเกตง่ายๆ นะครับ หนังเรื่องไหนที่ดูง่ายไม่ซับซ้อนไม่ลึกซึ้งมากมายนัก เวลาหนังฉายจบ จะมีเสียงคนดูที่เดินออกมาจากโรงคุยกันอย่างออกรสออกชาด วิพากษ์วิจารณ์กันต่างๆ นานา แต่หนังเรื่องไหนที่ดูยากค่อนข้างมีเนื้อหาหนักและลึกซึ้ง เสียงวิพากษ์วิจารณ์จะมีไม่ค่อยมาก คือไม่ค่อยจะคุยกันเท่าไรนัก เพราะอาจจะดูไม่รู้เรื่อง ผมเองยังเคยเลยครับ สมัยเมื่อ 20 ปีที่แล้วผมเคยดูหนังเรื่องหนึ่งชื่อว่า Phantasm สารภาพจริงๆ ครับว่าตอนนั้นดูแล้วไม่รู้เรื่องเลย)

พูดถึงเรื่องสัญลักษณ์มีหนังอยู่เรื่องหนึ่งที่ผมอยากจะพูดถึงในที่นี้ หนังเรื่องนี้มีอายุราว 70 ปีได้แล้ว คือออกฉายครั้งแรกในปี 1939 เป็นหนังคลาสสิกที่ยังทรงคุณค่าอยู่ไม่เสื่อมคลาย ยิ่งในทางสังคมวิทยาด้วยแล้ว หนังเรื่องนี้คือผลงานสร้างสรรค์ที่นักสังคมวิทยาในยุคหลังที่นิยมการสอนโดยใช้หนังมาเป็นสื่อมักกล่าวถึงอยู่เสมอ หนังเรื่องที่ว่าก็คือ The Wizard of Oz

The Wizard of Oz สร้างจากนิยายที่ขายดีของ Frank Baum กำกับโดย Victor Fleming นำแสดงโดย Judy Garland, Frank Morgan, Ray Bolger, Bert Lahr, Jack Haley, Billie Burke, Gus Wayne ฯลฯ อย่างที่ว่าล่ะครับหนังเรื่องนี้เก่ามาก แต่ผมอยากให้ลองหามาดูกันอีกที เพราะถึงแม้จะเก่านะครับ แต่ปรากฏว่าในสหรัฐอเมริกาโดยเครือข่ายสถานีโทรทัศน์ซีบีเอส (CBS) จะนำออกแพร่ภาพทางโทรทัศน์ทุกปีในราวเดือนมีนาคมตอนเทศกาลอีสเตอร์ และที่สำคัญหนังเรื่องนี้เป็นหนังที่ตัวละครทั้งหลายล้วนแต่เป็นสัญลักษณ์แทนความหมายบางอย่างที่น่าสนใจมาก เป็นความหมายที่ลึกซึ้งที่สามารถอธิบายถึงชีวิตและสังคมในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เพียงแต่เราต้องลองกลับมาคิดและค้นหาอีกทีจึงจะเข้าใจและมองเห็น (ไม่ทราบท่านผู้อ่านจะเห็นเหมือนผมหรือเปล่าก็ไม่รู้)

พล๊อตเรื่อง The Wizard of Oz นั้นเป็นเรื่องของเด็กสาวกำพร้าคนหนึ่งนามว่า โดโรธี เกล อาศัยอยู่ในฟาร์มของลุงเฮนรี่และป้าเอมิลี่ของเธอที่เมืองแคนซัส เธอมีสุนัขที่เธอรักมากตัวหนึ่งชื่อว่า โตโต้ แต่เพื่อนบ้านของเธอยายคุณนายกัลช์ใจร้ายพยายามข่มขู่โดโรธีว่าจะจับเจ้าโตโต้ของเธอไป เธอจึงหนีออกจากฟาร์ม ศาสตราจารย์มาร์เวลบอกกับเธอว่าป้าของเธอล้มป่วย เธอจึงรีบกลับบ้าน ระหว่างทางเกิดพายุ โดโรธีหมดสติไป ตื่นมาอีกทีก็มาอยู่ในดินแดนแห่งความฝันที่ชื่อว่าอ๊อซ แม่มดใจดีตนหนึ่งชื่อกลินด้ากับเจ้าพวกมันช์กิ้น บอกให้เธอเดินไปตามถนนสีเหลือง (the yellow brick road) เพื่อไปพบกับพ่อมดแห่งอ๊อซผู้ยิ่งใหญ่ที่อาศัยอยู่ในเมืองมรกต (The Emerald City) ระหว่างทางเธอพบกับมนุษย์ฟางหรือหุ่นไล่กาที่ปรารถนาอยากได้ความฉลาดอยากได้สมอง พบกับเจ้ามนุษย์กระป๋องผู้ซึ่งปรารถนาอยากได้หัวใจอยากได้ความเอื้ออาทร และได้พบกับเจ้าสิงโตผู้ซึ่งปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะได้มาซึ่งความกล้าหาญ ในขณะที่โดโรธีนั้นปรารถนาที่จะได้กลับบ้านไปพบลุงกับป้า พ่อมดแห่งอ๊อซสามารถที่จะดลบันดาลให้สมปรารถนาได้ แต่ต้องไปฆ่ายายแม่มดใจร้ายแล้วเอาไม้กวาดมาให้ได้เสียก่อน โดโรธีกับพวกทำสำเร็จและนำไม้กวาดมาให้พ่อมดแห่งอ๊อซ พ่อมดจึงใช้อำนาจดลบันดาลให้ทุกคนได้สมตามความปรารถนายกเว้นโดโรธี ทั้งนี้เนื่องจากกลินด้าแม่มดใจดีได้มาบอกให้โดโรธีรู้ว่าที่จริงแล้วเธอนั้นสามารถที่จะกลับไปบ้านเมื่อใดก็ได้ เพราะเธอมีรองเท้าวิเศษอยู่แล้ว เธอจึงได้กลับบ้านสมตามความปรารถนา

อย่างที่กล่าวไว้แต่แรกว่าหนังเรื่อง The Wizard of Oz เต็มไปด้วยสัญลักษณ์มากมาย ตัวละครต่างๆ ในเรื่องล้วนแล้วแต่แทนความหมายถึงบางสิ่งบางอย่างแทบทั้งสิ้น ตัวโดโรธีนั้นเป็นตัวแทนของการแสวงหาชุมชนหรือสังคมใหม่ เป็นตัวแทนของคนหนุ่มสาวที่เต็มไปด้วยความหวังและพลัง พร้อมที่จะท้าทายสังคมและกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า เธอฝันอยู่เสมอถึงดินแดนที่สวยงามกว่า ดินแดนที่มีแต่ความรักความเอื้ออาทรที่ทุกคนมีชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างความสุข ในหนังเราจะได้ยินบทเพลง Over the Rainbow ดินแดนที่โดโรธีฝันอยู่ที่ไหนสักแห่งบนรุ้งสายนั้นนั่นเอง…somewhere over the rainbow ตราบใดที่เราทุกคนยังมีความฝันยังมีพลังและความกล้า เราทุกคนก็คือโดโรธีนั่นเอง

ป้าเอมิลี่และลุงเฮนรี่เป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่ในสังคม ที่ในสมัยยังเป็นหนุ่มเป็นสาวคนเหล่านี้มีไฟแรงพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงและท้าทายสิ่งที่ไม่ถูกต้องในสังคม แต่เมื่อพวกเขามีอายุมากขึ้นไฟและพลังเหล่านั้นก็ค่อยๆ มอดลงๆ รอยยิ้มที่เปี่ยมด้วยศรัทธาเมื่อครั้งยังเป็นหนุ่มสาวถูกแทนที่ด้วยใบหน้าที่ผ่านการตรากตรำทำงานหนักมาตลอดชีวิต

แคนซัสและฟาร์มของป้าเอมิลี่และลุงเฮนรี่ที่โดโรธีอาศัยอยู่นั้นเป็นตัวแทนของความยากลำบากความแร้นแค้นที่สังคมประสบอยู่ ภาพของผืนดินสีเทาที่ปราศจากต้นไม้ ดอกไม้หรือแม้แต่น้ำ เป็นภาพสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจที่กำลังประสบปัญหารุนแรง (ผมว่าสังคมไทยทุกวันนี้ก็ไม่ผิดอะไรกับแคนซัสใน The Wizard of Oz สักเท่าไร) จนก่อให้เกิดเป็นแรงผลักดันที่จำต้องแสวงหาสังคมใหม่ กล่าวคือหนังเรื่องนี้ออกฉายในปี 1939 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นเป็นช่วงเวลาที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกประสบกับปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อันเป็นผลมาจากปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Great Depression หรือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในทศวรรษที่ 1930 ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลก ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำดังกล่าวเริ่มมาตั้งแต่ปี 1929 เรื่อยมาจนถึงปี 1939 ซึ่งหลังจากนั้นโลกก็เข้าสู่ช่วงเวลาแห่งสงครามโลกครั้งที่สอง (ค.ศ.1939 – 1945) หนังเรื่อง The Wizard of Oz จึงเป็นเสมือนตัวแทนของเสียงเรียกร้องของประชาชนที่ต้องการให้มีการแก้ไขสภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น

เจ้าโตโต้เป็นตัวแทนของผู้ที่ทำหน้าที่คอยเปิดเผยและชี้ให้เห็นถึงความจริงที่อยู่เบื้องหลังความเสแสร้ง ความหลอกลวง ความลับๆ ล่อๆ พิกลพิการ และความไม่จริงใจที่ดำรงอยู่ในสังคม และเนื่องจากโตโต้เป็นสุนัขที่โดโรธีรักมากคอยอยู่เคียงข้างกายของเธอตลอดเวลา ดังนั้นโตโต้ยังเป็นตัวแทนของความรู้ และความเข้าใจในความเป็นจริงของชีวิตอีกด้วย อย่าลืมว่าโดโรธีนั้นเป็นเด็กกำพร้า เธอไม่มีพ่อแม่ที่จะคอยเป็นที่ปรึกษาและชี้ให้เห็นถึงความจริงที่ดำรงอยู่ ดังนั้นเมื่อโดโรธีคือตัวแทนคนหนุ่มสาวที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง โตโต้จึงเปรียบได้กับความรู้ ความเข้าใจ และความเป็นจริงของชีวิตและของสังคมที่ดำรงอยู่ในตัวของคนหนุ่มคนสาวทุกคน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องค้นหาให้พบ (ปัญหามีอยู่ว่าหนุ่มสาวในสังคมทุกวันนี้ค้นพบมันแล้วหรือยัง)

พายุที่พัดมายังฟาร์มของป้าเอมิลี่และลุงเฮนรี่เกิดจากลมทั้งสี่ทิศ คือทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก เป็นเสมือนตัวแทนของพลังประชาชน ที่ทำหน้าที่ทำลายล้างความไม่ถูกต้อง ความไม่ชอบธรรม ความลำบากยากแค้น ความเอารัดเอาเปรียบ ความไม่ดีไม่งามทั้งหลายให้หมดไป (พายุในสังคมไทยก่อตัวขึ้นมาหรือยัง…หรือเป็นแต่เพียงลมที่ยังพัดมาไม่ครบทั้งสี่ทิศ…?)

ดินแดนอ๊อซเป็นตัวแทนของสังคมยูโทเปีย (utopia) หรือสังคมในอุดมคติที่มนุษย์ปรารถนา เป็นสังคมที่มีแต่ความสุข ปราศจากการแบ่งแยก การเอารัดเอาเปรียบ หรือการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ทุกคนในสังคมมีแต่ความเท่าเทียมกัน ไม่มีชนชั้น ไม่มีวรรณะ ฯ

แม่มดใจร้ายเป็นตัวแทนของระบบทุนนิยมที่ขูดรีดเอาส่วนเกินจากชาวนาและกรรมกร บรรดามันช์กิ้นที่อยู่ในหนังเปรียบได้กับคนหรือกรรมกรที่ถูกสาบให้ตกเป็นทาสของนังแม่มดใจร้าย หรืออีกนัยหนึ่งตกเป็นทาสของระบบทุนนิยมที่ครอบงำสังคมโลกนี้เอาไว้ ทุกวันนี้เราทำงานไปเพื่ออะไรถ้าไม่ใช่เพื่อเงิน ระบบทุนนิยมสอนให้เราบูชาวัตถุ บูชาเงิน มนุษย์จึงทำทุกอย่างทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เงินมากขึ้นๆ โดยเชื่อว่ายิ่งมีเงินมากเท่าไร ก็ยิ่งมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น แต่ยิ่งทำก็ยิ่งตกเป็นทาสของระบบที่เน้นทุนเป็นหลัก ยิ่งเดินตามระบบมากเท่าไรก็ยิ่งเป็นทาสมากเท่านั้น (ผมว่าสังคมไทยทุกวันนี้เป็นสังคมที่ถูกครอบงำโดยนังแม่มดชั่วร้ายตัวนี้อย่างสิ้นเชิง เราทุกคนคือมันช์กิ้นที่ทำงานอย่างหนักเพื่อเอาเงินไปบูชาลัทธิบริโภคนิยม)

ถนนสีเหลือง (the yellow brick road) เป็นตัวแทนของนโยบายทางเศรษฐกิจที่เน้นการสั่งสมเงินทองและความมั่งคั่ง เป็นตัวแทนของสถาบันการเงินการธนาคารที่ไม่เคยให้ความสำคัญกับผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และคนที่ทำธุรกิจขนาดย่อมหรือ SMEs (จริงหรือไม่จริงก็ดูเอาได้จากสังคมไทยนี่แหละครับ) เป็นนโยบายเศรษฐกิจที่คนยากคนจนไม่เคยได้รับประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่ข้าวยากหมากแพง ค่าแรงถูก ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ ดอกเบี้ยเงินกู้สูง (นโยบายของรัฐบาลไม่เคยเอื้อประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่ในสังคมเลย นี่แหละครับถนนสีเหลืองในสังคมไทย)

รองเท้าวิเศษของโดโรธีที่ได้มาจากแม่มด เป็นตัวแทนของความต้องการของประชาชน เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรมในทางเศรษฐกิจ

มนุษย์ฟางหรือหุ่นไล่กาเป็นตัวแทนของคนยากคนจน เกษตรกร ผู้ซึ่งไม่ได้รับการศึกษาที่ดีพอ จึงทำให้ขาดความรู้ความเข้าใจในการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของตัวเอง ในทางกลับกันมนุษย์ฟางก็เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการแสวงหาความรู้ความเข้าใจที่ดีในการดำเนินชีวิตในสังคม

มนุษย์กระป๋องนับเป็นสัญลักษณ์ที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นตัวแทนของคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหลายผู้ซึ่งถูกระบบการทำงานแปรสภาพเป็นเสมือนเครื่องจักร ทำงานไปแบบไร้หัวจิตหัวใจ ไร้วิญญาณ การทำงานไม่สามารถสร้างความสุขให้เกิดขึ้นได้ การทำงานไม่ได้มีความหมายใดๆ แก่ชีวิตนอกจากเงินที่จะได้ตอบแทนมาเท่านั้น ในอีกด้านหนึ่งมนุษย์กระป๋องจึงเป็นเสมือนการแสวงหาจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ เป็นการแสวงหาความรักความเข้าใจซึ่งกันและกัน ซึ่งนับเป็นความหมายที่ทรงคุณค่าแก่ชีวิตมากกว่าแค่เงินทอง

เจ้าสิงโตขี้ขลาดเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนของคนที่ยอมแพ้ต่อระบบ คนพวกนี้สมัยหนึ่งเคยลุกขึ้นต่อสู้ ลุกขึ้นท้าทายต่ออำนาจ แต่ในที่สุดพ่ายแพ้ต่ออำนาจและระบบที่ครอบงำอยู่ กลายเป็นคนที่ยอมรับสภาพไม่กล้าที่จะลุกขึ้นสู้อีกเลย ไม่กล้าแม้แต่จะพูดความจริง

พ่อมดแห่งอ๊อซเป็นสัญลักษณ์แทนนักการเมืองที่ทรงอำนาจ ความจริงอำนาจเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นความกล้าหาญ ความรู้ความเข้าใจ และความรักความเห็นอกเห็นใจ (ตามที่ปรากฎอยู่ในหนัง) เป็นของประชาชนทุกคนมาก่อนอยู่แล้ว เพียงแต่เราเอาไปมอบให้กับนักการเมืองในฐานะที่เป็นผู้แทนของเรา ตามความเชื่อแบบประชาธิปไตยว่าคนพวกนี้จะทำตามความต้องการของคนส่วนใหญ่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนใหญ่เป็นสำคัญ ซึ่งในความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย ดังนั้นเมื่อประชาชนต้องการอำนาจเหล่านั้นกลับต้องไปอ้อนวอนขอจากนักการเมืองเหล่านั้นแทน การที่ทั้งมนุษย์ฟาง มนุษย์กระป๋อง และสิงโตขี้ขลาด ต้องไปอ้อนวอนขอพรจากพ่อมดแห่งอ๊อซเพื่อให้ได้สมอง (brain) หัวใจ (heart) และความกล้าหาญ (courage) นั้นเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนที่แสดงถึงอำนาจของนักการเมืองเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

เมืองมรกต (The Emerald City) ที่พ่อมดแห่งอ๊อซอาศัยอยู่ เป็นสัญลักษณ์แทนเมืองที่ถือเรื่องเงินเป็นสรณะ เป็นเมืองที่ทุกอย่างถูกประเมินค่าเป็นเงินไปหมด เมืองหรือนครต่างๆ ในโลกล้วนแล้วแต่มีลักษณะเช่นนี้ทั้งสิ้น กล่าวคือมีความทันสมัยสวยงาม มีแสงสีและความเจริญก้าวหน้า แต่ชีวิตในเมืองต่างต้องดิ้นรนเพื่อแสวงหาเงินมาดำรงชีวิต ใครที่ไม่มีเงินไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในเมืองมรกต ใครที่มีเงินมากย่อมมีอำนาจในเมืองมรกต

ความจริงหนังยังมีสัญลักษณ์ที่น่าสนใจอีกมากมาย ที่กล่าวมานั้นเป็นตัวอย่างที่อยากอ้างถึงเพื่อให้ทุกคนเกิดความรู้สึกอยากกลับไปหามาดูกันใหม่ The Wizard of Oz ไม่ใช่หนังสำหรับเด็กเท่านั้น แต่เป็นหนังที่เหมาะสำหรับคนที่ต้องการแสวงหาความหมายของชีวิตและความหมายของสังคม


จาก The Wizard of OZ ย้อนกลับมามองยังสังคมไทย ผมว่าเราสามารถเปรียบเทียบกันได้ไม่ยาก สังคมไทยเป็นทั้งแคนซัส และเมืองมรกตในเวลาเดียวกัน กล่าวคือด้านหนึ่งเป็นสังคมที่ยังมีสภาพของความลำบากยากแค้นอยู่ทั่วไป ยิ่งในปัจจุบันนี้ด้วยแล้วเรายิ่งสามารถเห็นได้ชัดเจน ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจส่งผลให้ประชาชนมีชีวิตอยู่อย่างขัดสน คนว่างงานเพิ่มขึ้น ธุรกิจล้มละลาย น้ำมันมีราคาแพงส่งผลให้สินค้าอุปโภคบริโภคพลอยมีราคาสูงตามไปด้วย รายได้ของประชาชนลดลง หนี้สินเพิ่มขึ้นทั้งภาครัฐและเอกชน ฯ ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งสังคมไทยก็เป็นเมืองมรกตที่ทุกคนถือเอาเงินเป็นสรณะแห่งชีวิต ชีวิตทุกชีวิตต่างไขว่คว้าให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินเงินทอง คุณค่าและความหมายของชีวิตวัดกันที่เงิน คุณค่าของสังคมวัดกันที่โครงการภาครัฐที่ต้องอาศัยเงินกู้ต่างประเทศเป็นหมื่นเป็นแสนล้านบาท ประชาชนส่วนใหญ่เป็นเสมือนมนุษย์ฟางที่ขาดความรู้ความเข้าใจในความเป็นไปของสังคม เป็นเสมือนมนุษย์กระป๋องที่ไร้จิตวิญญาณ มีชีวิตและทำงานไปวันๆ เหมือนกับหุ่นยนต์ที่ผู้มีอำนาจสามารถบงการอย่างไรก็ได้ เป็นเสมือนสิงโตที่กลัวไปหมดทุกอย่าง ไม่มีแม้แต่ความกล้าที่จะทวงสิทธิอันพึงมีพึงได้ของตนเอง รัฐบาลที่มาจากนักการเมืองก็เหมือนกับพ่อมดแห่งอ๊อซที่เราเอาอำนาจไปมอบให้เขา แต่เวลาที่ต้องการให้รัฐบาลทำอะไรให้ต้องไปกราบกราน ไปอ้อนวอน ซึ่งก็ไม่เคยได้ตามที่คนส่วนใหญ่ต้องการเท่าไรนัก (ต้องอาศัยการประท้วงจึงจะเป็นผลอยู่บ้าง) คนส่วนใหญ่ไม่มีใครอยากอยู่ในสภาพอย่างนี้ตลอดไป การแก้ไขของรัฐบาลก็ไม่ค่อยได้ผลสักเท่าไรนัก ผมว่าคนอย่างโดโรธีมีอยู่ค่อนข้างมากในสังคม แต่อยู่อย่างที่ไม่รู้ว่าความจริงแล้วพวกเขาเองก็มีรองเท้าวิเศษอยู่กับตัว อยู่อย่างไม่รู้ว่าพวกเขาก็มีสมอง มีความกล้า และมีจิตวิญญาณที่พร้อมจะต่อสู้เพื่อให้เกิดสิ่งดีๆ ในสังคม เพียงแต่พวกเขาจะค้นพบและมองเห็นสิ่งเหล่านั้นได้เมื่อไร หากเพลงที่โดโรธีร้อง (Over the Rainbow) ในหนังมีมนต์ขลังจริง สิ่งที่เราทุกคนฝันและอยากจะเห็นคงปรากฏขึ้น ณ ที่ใดที่หนึ่งบนรุ้งสายนั้นอย่างแน่นอน

4 ความคิดเห็น:

  1. วิจารณ์ได้สุดยอดมากเลยค่ะ
    เพิ่งรู้ว่ามันสื่อความหมายที่ลึกกว่าที่เราคิดมากๆ เลย

    ตอบลบ
  2. ชุษณะ14/2/53

    คุณปู ขอโทษที่เขามาดูคอมเม้นท์ของคุณช้ามาก ยุ่งงานเต็มไปหมด ขอบคุณมากเลยนะครับสำหรับคอมเม้นท์ เข้ามาคุยอีกสิครับ...

    ตอบลบ
  3. หมูแดง16/11/54

    สุดยอดมากๆๆค่ะ Great!
    เรื่อง The wizard of Oz เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ชอบมากๆเลยค่ะ

    ตอบลบ
  4. วิเคราะห์ได้ดีมากๆค่ะ รู้สึกได้ว่าหนังมันใส่อะไรลงไปเยอะ
    มากกว่าหนังแฟนตาซีจริงๆ ดูหนังต้องได้อะไรจากหนังมาด้วย ถึงจะเจ๋ง

    ตอบลบ